กต.เตรียมส่งกฤษฎีกาตีความ JTEPA ต้องผ่าน สนช.ตามที่ รธน.กำหนดหรือไม่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 14, 2007 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศกำลังพิจารณาว่าจะหาทางออกอย่างไรกับมาตรา 190 แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 50 ที่กำหนดว่าการเจรจาการค้าระหว่างประเทศหรือการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อการค้า การลงทุนของไทยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน 
ทั้งนี้จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรที่ชัดเจน เพราะไม่เช่นนั้นตัวแทนของไทยที่มีหน้าที่เจรจากับต่างประเทศก็ไม่กล้าไปเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น
ส่วนกรณีของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA) ที่คาดจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 พ.ย.นั้น จะต้องให้กฤษฎีกาตีความเช่นกันว่าจะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) หรือไม่ แต่โดยส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะต้องขอความเห็นชอบจาก สนช.อีก เพราะ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามความตกลงเอง
"การเจรจา FTA ของไทยกับประเทศต่างๆ ที่มีผลบังคับแล้วไม่ได้รับผลกระทบอะไร แต่ FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจาและยังไม่มีผลบังคับใช้นั้น หากทำตามรัฐธรรมนูญปี 50 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องสรุปแต่ละกรอบการเจรจาเสนอให้ สนช.พิจารณา ก็ขึ้นกับว่า สนช.จะพิจารณาอย่างไร จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ได้ แต่หากไม่เห็นชอบให้เจรจาต่อ แล้วหยุดไปเลย ต่อไปก็จะไม่มีประเทศใดในโลกอยากเจรจากับเรา" นายการุณ กล่าว
ส่วนการออกกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติให้ชัดเจนตามมาตรา 190 วรรค 5 นั้น นายการุณ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ยกร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นโดยมีกระทรวงพาณิชย์ร่วมยกร่างด้วย ซึ่งจะต้องเขียนให้ชัดเจนว่าจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร จะต้องขอความเห็นชอบจากสภาหรือไม่ในกรณีใดบ้าง
ทั้งนี้เห็นว่าหากกฎหมายดังกล่าวล่าช้าจะยิ่งส่งผลเสียต่อการเจรจา และที่สำคัญจะทำให้การเปิดเสรีของไทยกับประเทศต่างๆ ต้องล่าช้าออกไปอีก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ