SCB EIC ปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้เหลือโต 2.2% จากโควิดระลอกใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 27, 2021 17:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

SCB EIC ปรับลดประมาณการ GDP ปีนี้เหลือโต 2.2% จากโควิดระลอกใหม่

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center ระบุว่า การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยส่งผลกระทบโดยตรงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 64 โดย EIC ปรับประมาณการ GDP ลงเหลือ 2.2% จากครั้งก่อนที่ 3.8% จากสาเหตุหลักดังนี้

1) การฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มช้ากว่าที่คาด โดยถึงแม้ว่าจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในหลายประเทศแล้ว และไทยอาจจะเปิดให้มีผู้ที่ฉีดวัคซีนสามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยลดข้อจำกัดการกักตัวลง แต่การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนก็ต่อเมื่อประเทศต้นทางต่างมีภาวะภูมิคุ้มกันหมู่แล้ว

โดย EIC ประเมินว่าประเทศพัฒนาแล้วจะทยอยมีภูมิคุ้นกันหมู่ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปี 64 ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยจะทยอยมีภูมิคุ้นกันหมู่ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/64 (เช่นจีน) ไปจนถึงไตรมาสที่ 4/65 (เช่น CLMV) ซึ่งช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ EIC จึงปรับประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ ลงเหลือ 3.7 ล้านคน โดยเป็นการฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะในไตรมาส 4 เป็นหลัก

2) ภาคการส่งออกมีแนวโน้มชะลอกว่าคาดในช่วงครึ่งปีแรกตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง (soft patch) จากการกลับมาระบาดของโควิด-19 รวมถึงปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และการแข็งค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่ถูกนำออกมาใช้ในหลายประเทศ การปิดเมืองแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และการเร่งฉีดวัคซีนซึ่งจะนำไปสู่การมีภูมิคุ้นกันหมู่โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว จะทำให้เศรษฐกิจโลกและการส่งออกไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดย EIC คาดมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 4.0% YOY ในปีนี้

3) ในส่วนของอุปสงค์ในประเทศ ข้อมูลเร็วบ่งชี้ว่าการระบาดระลอกใหม่ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีลักษณะ face-to-face อย่างมาก โดย EIC คาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนในการควบคุมการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งแม้ผลกระทบน่าจะไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดระลอกแรกเนื่องจากการปิดเมืองเป็นแบบเฉพาะเจาะจง และมีมาตรการภาครัฐที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ แต่คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาแผลเป็นทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME และแรงงานในธุรกิจด้านบริการที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว

ในภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้า ๆ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญทั้งในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมมีความแตกต่างระหว่างภาคธุรกิจค่อนข้างสูง รวมถึงยังมีความไม่แน่นอนและความเสี่ยงด้านต่ำอยู่มาก

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาในปีนี้ ได้แก่ 1) ระยะเวลาในการควบคุมการระบาดระลอกใหม่ 2) ความล่าช้าในการกระจายวัคซีนในไทยอย่างแพร่หลาย 3) แผลเป็นทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินผ่านการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น 4) ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน 5) ภัยแล้ง จากระดับน้ำในเขื่อนที่ยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และ 6) ค่าเงินบาทที่แข็งเร็วกว่าคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ