แบงก์ชาติระดมความเห็นผู้รู้-แบงก์เกอร์ก่อนปรับมาสเตอร์แพลนฉบับ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 10, 2007 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จัดเวทีระดมความเห็นแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน)ฉบับ 2 โดยเชิญผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ทั้งรัฐและเอกชน และนักวิชาการกว่า 40 คนเข้าร่วม เพื่อนำไปปรับปรุงแผนงานก่อนนำมาประกาศใช้ โดยเน้นประสิทธิภาพและปรับปรุงระบบการบริหารความเสี่ยงสถาบันการเงิน 
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) กล่าวว่า รายละเอียดเบื้องต้นของแผนยังไม่ครอบคลุมภาพระบบสถาบันการเงินไทยทั้งระบบ เนื่องจากเป็นการเลือกเน้นเฉพาะภาพของธนาคารพาณิชย์เท่านั้น
“หลักการทั่วไปที่ประชุมเห็นด้วย แต่รู้สึกว่าธปท.มองระบบการเงินไม่ครบถ้วน เน้นแต่แบงก์ โดยไม่ดูผลด้านอื่นทำให้มีคอมเมนต์มากอยากให้ดูระบบการเงินโดยรวมทั้งของไทยและของโลก" คุณหญิงชฎา กล่าว
นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายระบบการเงิน สำนักนโยบายระบบการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(ศสค.) ระบุว่า จุดอ่อนของระบบสถาบันการเงินไทยปัจจุบันคือขอบเขตการดำเนินธุรกิจที่แคบ ดังนั้นจำเป็นขยายฐานให้กว้างขึ้น
เพื่อรองรับความต้องการผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
“แผนนี้เป็น Stand alone ไม่ได้ เพราะเราต้องพัฒนานอน-แบงก์ สถาบันเฉพาะกิจ ไปพร้อมๆกัน ซึ่งต้องดูทั้งแนวตั้งแนวนอน ไม่งั้นก็จะเป็น แบงก์กิ่งมาสเตอร์แพลน ไม่ไช่ไฟแนซ์เชียวมาสเตอร์แพลน" นายโชติชัยระบุ
ด้าน นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.จะนำข้อเสนอแนะในที่ประชุม
โดยเฉพาะประเด็นการมององค์ประกอบภาพรวมของระบบสถาบันการเงินไทยทั้งหมดมาศึกษาและบรรจุในแผนด้วย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาตลาดอื่นๆที่เชื่อมโยงกันทั้ง ตลาดเงินและตราทุน ซึ่งสอดคล้องกับแผนที่ธปท.กำลังศึกษา
ความสำคัญของแผนนี้คือการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงิน โดยเฉพาะการลดต้นทุนจากการดำเนินงานตามกฎระเบียบของธปท. ดังนั้นสถาบันการเงินขนาดเล็กต้องเร่งปรับตัว เพื่อรับภาวะแวดล้อมการแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งจากผู้เล่นในประเทศและผู้เล่นรายใหม่จากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้ในแผนนี้ธปท.จะไม่เน้นปริมาณจำนวนสถาบันการเงินก็ตาม ประกอบกับธปท.ต้องการลดปัญหาความไม่ทั่วถึงของการเข้าสู่บริการทางการเงินของกลุ่มผู้บริโภค เช่น ผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก และภาคครัวเรือน ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่าเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วนในแผน 2 จะมีการเชื่อมโยงแผนพัฒนาตลาดเงินตลาดทุนด้านอื่นๆด้วย เพื่อขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจให้กว้างขึ้นและผ่องถ่ายความเสี่ยงด้านธุรกิจของสถาบันการเงิน
ดังนั้นระยะต่อไปสถาบันการเงินไทยจำเป็นต้องมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะตามมา แม้ระบบความเสี่ยงที่ใช้ปัจจุบันมีประสิทธิภาพ แต่ธปท.จำเป็นที่ต้องนำมาปรับปรุงเพื่อให้มีความทันสมัยมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ