"แก้วสรร"เสนอตั้งหน่วยรวมศูนย์อำนาจตรวจทุจริตหลังพบอุปสรรคคดีซุกหุ้น 2

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 19, 2007 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          เลขานุการ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เสนอออกกฎหมายรองรับเพื่อจัดตั้งหน่วยงานในการเข้าไปตรวจสอบหาข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตโดยมิชอบ ที่สามารถประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) , สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) , สำนักงานป้องกันและปราบ
ปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมทั้ง กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ที่เป็นหน่วยงานเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบ หวังช่วยกันตรวจสอบทุจริตที่เกิดขึ้นในรูปแบบใหม่
นายแก้วสรร อติโพธ กรรมการและเลขานุการ คตส. กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ สามารถตรวจสอบและหาข้อมูลได้เพียงบางส่วนตามที่กฎหมายรองรับเท่านั้น และไม่มีการเชื่อมโยงกัน ทำให้การทุจริตในรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นทั้งการใช้ข้อมูลภายในในการหาประโยชน์ และการทุจริตเชิงนโยบายของนักการเมืองในระดับที่สามารถควบคุมและนำมาทำเป็นนโยบายใหม่ที่ก่อให้ประโยชน์กับพวกพ้องและธุรกิจครอบครัว
อย่างกรณี เอไอเอส มีการแก้ไขสัญญาลดส่วนแบ่งค่าสัมปทานจาก 25% เหลือ 20% สำหรับระบบพรีเพด ทำให้รัฐวิสาหกิจสูญเสียรายได้ตลอดสัญญา หรือคิดเป็นเงินประมาณ 8 หมื่นล้านบาท รวมถึงการแก้ไขเพดานการถือครองหุ้นของต่างชาติในธุรกิจโทรคมนาคม จาก 25% เป็น 49% และ การซื้อขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น (SHIN) ล็อตใหญ่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ให้กับกองทุนเทมาเส็กจากสิงคโปร์
"ผมเห็นว่าการทำงานของหน่วยงานตรวจสอบ ควรจะ link กันมากขึ้น และมีอำนาจแบบบูรณาการ ที่สามารถตรวจสอบได้ในทุกๆด้าน และสามารถทำงานร่วมกันเพื่อให้ทันต่อการทุจริตในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีการพัฒนา โดยเฉพาะการใช้ตลาดหุ้นเป็นแหล่งฟอกเงิน และรับผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน" กล่าวในงานเสวนาเรื่อง"แกะรอยซุกหุ้นภาค 2"
นายแก้วสรร กล่าวว่า คตส.อยู่ระหว่างการเร่งรวบรวมข้อมูลของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัว ทั้งเรื่องการซุกหุ้น การซื้อที่ดิน การใช้ข้อมูลของรัฐมาหาประโยชน์ส่วนตน โดยจะรีบรวบรวมเพื่อส่งดำเนินคดีในชั้นศาลให้ทันภายในสิ้นธ.ค.นี้ ก่อนจะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งตอนนั้นอำนาจของคตส.ก็จะหมดลง และจากนั้นจะเป็นอำนาจของอัยการเข้าตัดสินการกระทำของอดีตนายกรัฐมนตรี
"เชื่อว่าหลักฐานที่ผมมีจะเพียงพอต่อกับการเอาผิดแต่ผมก็พร้อมที่จะให้ท่านเอาหลักฐานมาชี้แจงว่าไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง ระหว่าง แอมเพิลริช วินมาร์ค และอดีตนายกฯ ซึ่งหากมีข้อมูลมาชี้แจงและมีหลักฐานมาโต้ ผมก็พร้อมที่จะปล่อย" นายแก้วสรร กล่าว
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต.ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ภายใต้กรอบอำนาจภายใต้พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งทาง ก.ล.ต.ได้ยื่นขอข้อมูลจาก ก.ล.ต.สิงคโปร์ เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น SHIN ของบริษัท วินมาร์ค ผ่านยูบีเอส ซึ่งเป็นนอมินีระหว่างวันที่ 5-20 ม.ค.49 จำนวน 56.8 ล้านหุ้น ซึ่งข้อมุลที่ก.ล.ต.ได้ พบว่า ไม่มีคนวงในเกี่ยวข้องในการซื้อหุ้นครั้งนี้ และการซื้อขายหุ้น SHIN เป็นรายการระหว่างนักลงทุนต่างชาติ 4 ราย ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอดีตนายกรัฐมนตรี
แต่ในกรณีบมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น (SC) พบว่า มีข้อมูลน่าสงสัยว่าจะมีความเกี่ยวโยงกันระหว่าง SC กับ วินมาร์ค และ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งก.ล.ต.ได้ส่งเรื่องไปยังดีเอสไอเพื่อสอบสวนและดำเนินคดีต่อไป
พร้อมระบุว่ายังมีอีกหลายคดีที่นอกเหนืออำนาจของก.ล.ต.เข้าตรวจสอบ แต่ ก.ล.ต.ก็จะดำเนินการต่อเนื่องโดยผ่านดีเอสไอ
สำหรับกรณีที่มีการเสนอให้ฝ่ายตรวจสอบของภาครัฐมีการประสานงานร่วมกันและมีกฎหมายรองรับนั้นเพื่อป้องกันการทุจริตที่มีรูปแบบใหม่ๆมากขึ้นนั้น นายธีระชัย ก็เห็นด้วย และกล่าวว่า ที่ผ่านมา คตส.ได้มีการตรวจสอบในเชิงลึกได้มากกว่าก.ล.ต.เนื่องจากมีกฎหมายรองรับในการตรวจสอบ และหาก คตส.ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมจาก ก.ล.ต. ซึ่งก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ
"ที่ผ่านมา ประชาชนสับสน และไม่เข้าใจการทำงานของ ก.ล.ต. โดยเข้าใจว่า ทำงานไม่เต็มที่ แต่ยืนยันว่าเราได้ทำงานอย่างเต็มที่ตามอำนาจที่เรามี และถ้าหากเราฟ้องร้องโดยมีข้อมูลไม่เพียงพอ เราก็จะโดนฟ้องกลับ ซึ่งก็อยากให้มีกฎหมายมารองรับ และในส่วนที่คตส.บอกว่ามีการใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น ถือว่าเป็นหน้าที่ของก.ล.ต.โดยตรงที่จะใช้ข้อมูลภายใน และเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถทำได้อย่างเต็มที่" นายธีระชัย กล่าว
ขณะที่ นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ในฐานะประธานชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า มีหลายกรณีที่ต้องสงสัยว่าอดีตนายกรัฐมนตรีมีการซุกหุ้นเพื่อปกป้องอำนาจทางการเมือง เนื่องจากกฎหมายกำหนดว่า นักการเมืองและรัฐมนตรีไม่สามารถถือหุ้นในธุรกิจที่ได้รับสัมปทาน และมีการโอนหุ้นออกมาให้กับคนในครอบครัว
ประกอบกับการพิจารณาการถือหุ้น SHIN ของแอมเพิลริช ที่ได้แบบข้อมูลมาจากดีบีเอสนั้นเชื่อได้ว่า แอมเพิลริช เป็นบริษัทจัดตั้งที่มาจากบุคคลคนเดียวกันที่จัดตั้งบริษัท วินมาร์ค ซึ่งประเด็นเหล่านี้น่าจะมีการเอาผิดต่ออดีตนายกรัฐมนตรีได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ