ยอดตั้งรง.ใหม่ 9 เดือนปีงบฯ 64 กว่า 1,894 โรง เม็ดเงินลงทุนกว่า 2.25 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 2, 2021 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงผลการดำเนินงานในช่วง 3 ไตรมาสของปีงบ 64 (ต.ค.63-มิ.ย.64) ว่า มีการตั้งโรงงานใหม่ทั่วประเทศจำนวน 1,894 โรงงาน ลดลง 128 โรงงาน หรือคิดเป็น 6.33% จากช่วงเดียวกันของปีงบ 63 ที่มีจำนวน 2,022 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุน 225,710.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86,585.34 ล้านบาท หรือคิดเป็น 62.24% จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 63 ที่มีมูลค่า 139,124.90 ล้านบาท เพิ่มการจ้างงาน 58,765 คน

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการประกอบกิจการใหม่สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อโลหะ อุตสาหกรรมอาหาร และผลิตภัณฑ์โลหะ ขณะเดียวกันมีการขยายโรงงานใหม่จำนวน 209 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 69,083.30 ล้านบาท เพิ่มการจ้างงาน 35,663 คน และมีการเลิกประกอบกิจการโรงงานจำนวน 567 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 29,541.10 ล้านบาท

"การที่ยังมีโรงงานใหม่ตั้งเพิ่มมาก เนื่องจากเป็นการวางแผนล่วงหน้าของนักลงทุนก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19" นายประกอบ กล่าว

ขณะที่การขยายโรงงานมีจำนวน 209 โรงงาน ลดลง 493 โรงงาน หรือคิดเป็น 70.23% จากช่วงเดียวกันของปีงบ 63 มีจำนวน 702 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุน 69,083.30 ล้านบาท ลดลง 82,024.55 ล้านบาท หรือคิดเป็น 54.28% จากช่วงเดียวกันของปีงบ 63 ที่มีมูลค่า 151,107.85 ล้านบาท

ส่วนการเลิกกิจการมีจำนวน 567 โรงงาน ลดลง 61 โรงงาน หรือคิดเป็น 9.72% จากช่วงเดียวกันของปีงบ 63 ที่มีจำนวน 628 โรงงาน มีมูลค่าการลงทุน 29,541.10 ล้านบาท ลดลง 15,638.11 หรือคิดเป็น 34.61% จากช่วงเดียวกันของปีงบ 63 ที่มีมูลค่า 45,179.21 ล้านบาท

กรอ.ยังได้อนุญาตเขตประกอบการอุตสาหกรรมใหม่ของบริษัท ไทยอีสเทิร์น อินดัสเตรียล แลนด์ จำกัด ที่อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี ที่ได้ยื่นขอรับการสนับสนุน ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาการขอรับการสนับสนุนเป็นเขตประกอบการ ด้วยทุนจดทะเบียน 510 ล้านบาท

กรอ.ได้ดำเนินการตรวจสอบและกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานในเขตกรุงเทพฯ โดยสามารถตรวจติดตามและกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานได้ครบ 100% ตามแผนที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกันได้ติดตามสถานการณ์และรายงานการตรวจเชิงรุกของเชื้อโควิด-19 ในโรงงานเขตกรุงเทพฯ

สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 นั้น ได้แก่ การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน จำพวกที่ 2 และจำพวกที่ 3 กว่า 56,000 โรงงาน คิดเป็นเงินจำนวน 272.25 ล้านบาท ซึ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.64

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการจึงมีแนวโน้มจะเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การปรับตัวแล้วรอด คือการก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และนำมาปรับใช้หรือต่อยอดกับธุรกิจของตนเอง เพื่อลดปัญหาการหยุด หรือเลิกกิจการ ตลอดจนการเลิกจ้างแรงงาน ลดปัญหาการว่างงานจากภาคอุตสาหกรรม โดย กรอ.พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวและสามารถประกอบกิจการต่อไปได้ตามปกติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ