ประธาน สรท.เสนอประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งทางทะเลต่อที่ประชุมอังค์ถัด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 14, 2021 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า ได้เป็นตัวแทน Asian Shippers? Alliance (ASA) นำประเสนอประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าทางทะเลที่สำคัญ คือ การขาดแคลนตู้สินค้าและระวางเรือ(Space) และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ต่อเวทีสัมมนาของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เพื่อร่วมหารือในปัญหาการขนส่งสินค้าทางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ สถานการณ์อัตราค่าระวางที่เพิ่มขึ้น และข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในอนาคต

ซึ่งสอดคล้องกับที่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ทราบถึงปัญหา และขอให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เร่งดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศในระยะยาว

โดยได้นำเสนอเหตุที่มาของปัญหา อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ 1. แรงงานและประสิทธิภาพท่าเรือในหลายประเทศลดลง 2. การปิดกิจการและโรงงานผลิตชั่วคราว 3. การส่งออกของจีนฟื้นตัว และอุปสงค์สหรัฐและสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น 4. ประเด็นคลองสุเอซ และการหยุดชะงักอื่นของการปฏิบัติงานในท่าเรือที่สำคัญหลายแห่ง ข้อจำกัดของการผลิตตู้คอนเทนเนอร์ และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อาทิ 1) ความแออัดของท่าเรือและระยะเวลาการขนส่งจากท่าเรือถึงท่าเรือนานขึ้น 2) เรือล่าช้ากว่ากำหนดส่ง ผลต่อการหมุนเวียนคอนเทนเนอร์ช้าลงทั่วโลก 3) ตู้คอนเทนเนอร์ และระวางเรือขาดแคลน ส่งผลให้อัตราค่าขนส่งเพิ่มขึ้น

พร้อมกันนี้ ได้ชี้แจงผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในเอเชีย อาทิ 1. ระยะเวลาการรอโหลดสินค้าขึ้นเรือแม่ ณ ท่าเรือที่เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้ายาวนานมากขึ้น 2. ระยะเวลาขนส่งสินค้านานขึ้น สร้างความเสี่ยงต่อการขาดแคลนวัตถุดิบในห่วงโซ่มูลค่าโลก 3. ระยะเวลาขนส่งนานขึ้น ส่งผลต่อการชำระเงินนานขึ้นสำหรับเทอมการค้าบางเงื่อนไข ทำให้เกิดปัญหากระแสเงินสดแก่ผู้ส่งออก

4. ความล่าช้าของตารางเดินเรือที่เกิดจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์กับการบริหารจัดการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศ เช่น ผู้ขนส่งสินค้า ตัวแทนเรือ ผู้ให้บริการท่าเทียบเรือ บริษัทรถบรรทุก ลานกองตู้คอนเทนเนอร์ เป็นต้น 5. การเพิ่มขึ้นของต้นทุนคลังสินค้าและสินค้าคงคลัง เนื่องจากสต็อกสินค้าสำเร็จรูปจำนวนมหาศาล 6) ผู้ส่งออกมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัว เป็นต้น

อนึ่ง สรท. ร่วมกับ Asian Shippers? Alliance (ASA) ประกอบด้วย สภาผู้ส่งสินค้าจากชาติพันธมิตรในเอเชีย ได้สรุปข้อเสนอแนะต่อประชาคมโลก เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วย 1. ยกระดับเพื่อสะท้อนบทบาทของผู้ส่งออกที่ปัจจุบันการส่งออกเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ยังคงติดปัญหาในเรื่องของต้นทุนโลจิสติกส์ และค่าใช้จ่ายภายในประเทศ (Local Charge) รวมถึงขาดแคลนในเรื่องของอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่จะรองรับประสิทธิภาพของเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ 2. ผลักดันและร่วมมือกับหน่วยภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศที่ที่กำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าเพื่อตรวจสอบการให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลให้สอดคล้องกับการกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม

3. ส่งเสริมความร่วมมือของสภาผู้ส่งออกในแต่ละประเทศ อาทิ 3.1 การแลกเปลี่ยนข้อมูลความพร้อม และปริมาณของตู้คอนเทนเนอร์และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดจากแต่ละประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และประยุกต์ใช้ในประเทศภาคีสมาชิก 3.2 เร่งเจรจากับผู้ให้บริการสายเรือ เพื่อรับประกันพื้นที่และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมีเพียงพอ 3.3 สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ด้านการขนส่ง เพื่อการเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ได้สะดวกมากขึ้น 3.4 ศึกษารูปแบบทางเลือกในการขนส่งระหว่างประเทศอื่น เช่น การขนส่งทางรถ และทางราง เป็นต้น และ 3.5 สนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตและซ่อมตู้คอนเทนเนอร

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นว่า 1. ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และอัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ และส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ตลอดทั้ง Global Supply Chain ได้แก่ ผู้นำเข้าและส่งออกสินค้า บริษัทตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประทศ สายการเดินเรือ รวมถึงผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ คลังสินค้า ดังนั้นจึงควรผลักดันการหารือสู่เวทีระดับโลก ให้มีการพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างชาติสมาชิกโดยด่วน

2. หน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้าในแต่ละประเทศ ต้องให้ความสำคัญและเร่งพัฒนากลไกควบคุมการแข่งขันและการกำหนดอัตราค่าระวางและค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งสินค้าทางทะเล โดยอาจกำหนดหรือจัดทำข้อเสนอแนะทางกฎหมายให้มีการกำหนดนโยบายด้านราคาของผู้ให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์มีความชัดเจน โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้นโยบายมีความน่าเชื่อถือ ตลอดจนช่วยให้การแก้ไขปัญหาในปัจจุบันมีประสิทธิผลสูงสุด รวมถึงการสร้างเวทีให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันก่อนบังคับใช้กฎหมาย

3. แม้รัฐบาลหลายประเทศมีแนวคิดในการจัดตั้งสายการเดินเรือ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายในการลดต้นทุนการขนส่ง เพิ่มปริมาณระวางขนส่ง ลดการขาดดุลค่าระวางเรือ และเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับกองเรือของประเทศตน อย่างไรก็ตาม ควรคำนึงถึงสภาพการแข่งขันที่รุนแรงของสายเรือที่มุ่งเน้นการสร้างเส้นทางให้บริการที่ครอบคลุม และเชื่อมโยงท่าเรือและเส้นทางการค้าหลักและรองทั่วโลก และมุ่งลดต้นทุนด้วยการประหยัดต่อขนาดการขนส่ง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำหรับเรือขนาดเล็กที่มีเงินทุนจำกัดในการลงทุนเพื่อตอบสนองเรื่องดังกล่าว และสถานการณ์ในระยะยาวของตลาดขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งอาจกลับเข้าสู่วัฏจักรขาลงในอนาคตอันอาจทำให้การลงทุนไม่ประสบความสำเร็จและกลายเป็นหนี้สินของประเทศ

4. แต่ละประเทศควรยกระดับการจัดการระบบข้อมูลตู้สินค้าเข้าออกรายวันอย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาปริมาณตู้สินค้าขาดแคลน และ 5. แต่ละประเทศต้องเร่งขับเคลื่อนพัฒนาระบบแพลตฟอร์มการค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งระดับประเทศ (National Digital Trade Platform) และระดับภูมิภาค (Regional Digital Trade Platform) ตลอดจนระบบดิจิทัลในอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีภายในประเทศ


แท็ก ประธานสภา   asian   Spa  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ