EXIM BANK ชี้ส่งออกเป็นพระเอกเคลื่อนศก. H2/64 เร่งติดอาวุธ SME สู่ตลาดโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 4, 2021 12:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

EXIM BANK ชี้ส่งออกเป็นพระเอกเคลื่อนศก. H2/64 เร่งติดอาวุธ SME สู่ตลาดโลก

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ปัจจุบันโควิด-19 ยังแพร่ระบาดทั่วโลก แต่หลายประเทศเริ่มปรับตัวและรับมือเพื่อให้ภาคธุรกิจดำเนินต่อไปได้ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวได้สูงถึง 6% โดยได้อานิสงส์จากประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ สหรัฐฯ จีน และบางประเทศในยุโรป โตมากกว่า 6% ซึ่งประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนเกินกว่า 50% ของ GDP โลก เป็นผลจากความพร้อมในการผลิตวัคซีนเองและฉีดให้แก่ประชาชนของตนเองได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับความพร้อมของเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมากเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19

EXIM BANK ชี้ส่งออกเป็นพระเอกเคลื่อนศก. H2/64 เร่งติดอาวุธ SME สู่ตลาดโลก

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์ โรงงานในบางพื้นที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจนต้องหยุดการผลิต ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่ยังมีความเปราะบาง จนหน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญหลายแห่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวเพียงราว 1%

ขณะที่การท่องเที่ยวยังรอวันฟื้น ดังนั้น "การส่งออก" จะกลายเป็นพระเอกประคับประคองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2564 ต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกที่ขยายตัวถึง 15.5% โดยได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว สินค้าโภคภัณฑ์มีราคาดี สินค้าไทยบางส่วนตอบรับกระแส New Normal ได้ดี นอกจากนี้ ปัจจุบันเงินบาทอยู่ในช่วงอ่อนค่าที่ระดับ 33 บาท/ดอลลาร์ จึงถือว่าเป็นอีกโอกาสที่จะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้ เพราะการที่เงินบาทอ่อนค่า ย่อมหมายถึงราคาสินค้าไทยถูกลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง โดยคาดว่าในปี 2564 ภาคส่งออกจะขยายตัวได้ถึง 11% คิดเป็นมูลค่า 255,000 ล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์

"มูลค่าการส่งออกช่วง 6 เดือนแรกของไทยปีนี้ โต 15.5% ซึ่งเป็นภาคเดียวของประเทศที่เติบโตในระดับ 2 digit ดังนั้นพระเอกของเรากลับมาแล้ว แต่จะมาได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ หรือเป็นเพราะได้อานิสงส์จากคนอื่น การแบมือขอจากคนอื่นอาจจะไม่ยั่งยืน ต่างจากการที่เราต้องสร้างขึ้นด้วยตัวเอง ดังนั้น การเดินทางต่อจากนี้ เราต้องทำให้ทุกองคาพยพแข็งแรงขึ้น" นายรักษ์ ระบุ

ดังนั้น EXIM BANK ได้เร่งขับเคลื่อนการฟื้นตัวของภาคส่งออกและเศรษฐกิจไทยอย่างรวดเร็ว ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการค้าระหว่างประเทศ โดยพัฒนา 4 ปัจจัยสู้วิกฤตโควิด-19 ควบคู่กับการตอบโจทย์โลกวิถีใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของภาคส่งออกและเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2564 ดังนี้

1. พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ตอบรับกระแส New Normal EXIM BANK จะเป็น Lead Bank สนับสนุนการลงทุนทั้งในและต่างประเทศในอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ พลังงานทดแทน พาณิชยนาวีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมสีเขียว ดิจิทัล และสุขภาพ (Green, Digital, Health : GDH)

2. พัฒนา SMEs ให้เป็นผู้ส่งออกรายใหม่เพิ่มมากขึ้น จากจำนวนผู้ส่งออก SMEs ของไทยในปัจจุบันมีไม่ถึง 1% ของ SMEs ทั้งประเทศซึ่งมีจำนวน 3.1 ล้านราย EXIM BANK พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำและอบรมบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs ในทุกระดับ ผ่านกิจกรรมของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK (EXIM Excellence Academy : EXAC) รวมทั้งให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ที่จะทำให้ SMEs เข้าสู่ธุรกิจส่งออกได้ทันที อาทิ สินเชื่อเครือข่ายครบวงจร (EXIM Supply Chain Financing Solution) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ SMEs ที่เป็น Suppliers ของผู้ประกอบการรายใหญ่โดยไม่ต้องใช้หลักประกันเพิ่ม

3. พัฒนา Pavilion สำหรับการค้าออนไลน์ ภายใต้ชื่อ "EXIM Thailand Pavilion" เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยรายเล็กซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้าถึงช่องทางดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นวิธีการค้าขาย การโพสต์สินค้า ตลอดจนขีดจำกัดด้านเงินทุน มีโอกาสค้าขายกับคู่ค้าในต่างประเทศทางออนไลน์ได้อย่างประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสได้รับการสนับสนุนทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงินจาก EXIM BANK และหน่วยงานพันธมิตรควบคู่ไปด้วย

4. พัฒนาผลิตภัณฑ์ครบวงจรเพื่อเสริมสภาพคล่องและป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ไทย รวมทั้งมาตรการ "พักหนี้" และ "เติมทุน" เพื่อช่วยเหลือลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจส่งออกและเกี่ยวเนื่อง ผู้นำเข้า และนักลงทุนจากผลกระทบของโควิด-19 ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย

"นักรบ (SMEs) ของเราคงจะใส่ตะกรุดออกรบแบบเดิมไม่ได้แล้ว แต่ต้องใส่เสื้อเกราะออกไปรบ" นายรักษ์กล่าว

อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาปัจจัยลบต่อภาคการส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย การขาดแคลนวัตถุดิบและตู้คอนเทนเนอร์สำหรับธุรกิจส่งออก เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความชะงักงันของกิจการ Logistics ที่มีผู้ติดเชื้อและการตรวจสอบที่เข้มงวด จนทำให้จำนวนตู้คอนเทนเนอร์กลับเข้าสู่ภาวะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า การพัฒนา 4 ปัจจัยดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบาย Dual-track Policy ของ EXIM BANK ในการทำหน้าที่เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยให้ก้าวผ่านภาวะวิกฤตและมีโมเมนตัมการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และยั่งยืน มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและภาคธุรกิจในโลกยุคใหม่ ขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs (One Stop Trading Facilitator for SMEs) ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของภาคธุรกิจสามารถผันตัวเป็นผู้ส่งออกและขยายธุรกิจส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน

"EXIM BANK จะเร่ง ?ซ่อม? ด้วยการช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่วิกฤตและกระตุ้นให้ตลาดกลับมาน่าสนใจ ?สร้าง? อุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตและการดำเนินธุรกิจในโลกอนาคต ?เสริม? ความสมดุลของการค้าและการลงทุนในตลาดหลักควบคู่กับตลาด New Frontiers รวมทั้งบุกเบิกโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ ขณะเดียวกัน จะเป็นผู้ให้บริการครบวงจรร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในการเติมความรู้ ทุน และศักยภาพ เพื่อช่วยให้ SMEs ค้าขายระหว่างประเทศได้อย่างประสบความสำเร็จและเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain ของผู้ส่งออกที่แข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างมั่นใจ" นายรักษ์กล่าว

พร้อมระบุว่า ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในระยะจากนี้ไป มี 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย 1. ธุรกิจ GREEN ได้แก่ Bio Plastic, Plant based 2.ธุรกิจ Digital ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ดิจิทัล คอนเทนท์ และเกมส์ 3. ธุรกิจ Health ได้แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ/อาหารทางการแพทย์, อุปกรณ์การแพทย์/เวชภัณฑ์

นายรักษ์ กล่าวถึงแผนงานสำคัญของ EXIM BANK ในช่วงครึ่งปีหลังว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ธนาคารฯ ถือได้ว่าดำเนินการได้ใกล้เคียงกับ KPI ที่ทำไว้กับกระทรวงการคลัง ซึ่งถือว่างานหลักทำได้สำเร็จแล้ว และในช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นการเข้าไปช่วยดูแลกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งได้รับนโยบายจากรมว.คลัง ให้ธนาคารฯ เข้าไปโฟกัสการช่วยเหลือในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้

"ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าธนาคารฯ จะสามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมที่มีความเปราะบางได้อย่างไรบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่ ทั้งการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 2 เดือน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ โดยได้เตรียมจะขยายระยะเวลามาตรการยาวถึง ธ.ค. 2564 สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีในภาคส่งออกที่ยังได้รับผลกระทบอย่างหนัก และไปต่อไม่ไหว" นายรักษ์กล่าว

พร้อมยอมรับว่า แนวโน้มยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารฯ อาจจะมีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากธนาคารฯ ได้เข้ามาดูแลการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มเปราะบางมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น โดยคาดว่า ณ สิ้นปี 64 NPL จะอยู่ที่ระดับ 3.89%

"NPL คงเพิ่มแน่ เพราะแต่ก่อน เลือกทำแต่คนตัวใหญ่ มีความมั่นคง สินเชื่อเจ้าสัว แต่สถานการณ์ตอนนี้จะเปลี่ยนไป เราจะดูแลผู้ประกอบการที่เปราะบาง ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น...เราตั้งเป้า NPL ไว้ไม่ให้เกิน 4% อยู่ที่ราว 3.89% แม้ไม่ได้ดีในแง่ของ EXIM BANK แต่ก็ถือว่าเป็น ratio ที่งดงาม" กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ