พาณิชย์ เตรียมรับมือมาตรการปรับคาร์บอนฯ ของอียู ห่วงกระทบสินค้าเหล็ก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 12, 2021 10:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา กรมฯ ได้หารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมยุโรป สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผ่านการประชุมระบบทางไกล กรณีสหภาพยุโรป (อียู) ได้เผยแพร่ร่างกฎหมายมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าของอียูจะต้องซื้อ "ใบรับรอง CBAM" ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น ซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าของไทยไปอียูจะต้องเตรียมปรับตัว และปรับกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมีค่าใช้จ่ายสำหรับขอใบรับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยหากอียูเห็นชอบร่างกฎหมายมาตรการดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับในต้นปี 2566

นางอรมน กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่า มาตรการ CBAM ของอียู จะกระทบกับการส่งออกสินค้าของไทยไปอียูได้ โดยเฉพาะสินค้าเหล็ก เหล็กกล้า และอลูมิเนียม ซึ่งในปี 2563 ไทยส่งออกไปอียูมูลค่าประมาณ 145 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทยจึงต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อศึกษารายละเอียดของมาตรการและกฎหมายต่างๆ ตลอดจนหารือกับอียูเพื่อลดผลกระทบทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า อียูจะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM กับสินค้า 5 ประเภทก่อน ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม และอาจขยายมาตรการให้ครอบคลุมสินค้าประเภทอื่นด้วยในอนาคต โดยในช่วง 3 ปีแรก (2566?2568) จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้นำเข้าเพียงแค่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องซื้อและส่งมอบใบรับรอง CBAM

สำหรับรายละเอียดมาตรการ CBAM เช่น ให้ผู้นำเข้าจัดทำ "คำสำแดง CBAM" ยื่นให้แก่หน่วยงานในประเทศสมาชิกอียู ภายในวันที่ 31 พ.ค. ของทุกปี โดยระบุปริมาณสินค้าที่นำเข้าในรอบหนึ่งปีก่อนหน้า และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านำเข้านั้น และต้องส่งมอบใบรับรอง CBAM ซึ่งราคาใบรับรองจะอ้างอิงตามราคาซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของอียู (EU Emission Trading Scheme : EU-ETS) และหากแสดงได้ว่าสินค้าถูกปรับคาร์บอนในประเทศต้นทางแล้ว ผู้นำเข้าก็จะสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายภายใต้มาตรการ CBAM ได้ ส่วนผู้ประกอบการต่างชาติ สามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ระดับโรงงาน) ของสินค้าที่ตนผลิต โดยข้อมูลการปล่อยก๊าซฯ จะต้องได้รับการรับรองโดยผู้รับรอง (accredited verifier) ที่แต่งตั้งโดยประเทศสมาชิกอียู เป็นต้น

ทั้งนี้ มาตรการ CBAM ของอียู สืบเนื่องจากการดำเนินนโยบายโลกสีเขียวไร้มลพิษของอียู (European Green Deal) ที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 55% ภายใน 10 ปี (ปี 2573) และทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมเป็น 0 ภายใน 30 ปี (ปี 2593) จึงส่งผลให้อียูจำเป็นต้องออกมาตรการดังกล่าว เพื่อช่วยผู้ประกอบการอียูไม่ให้มีค่าใช้จ่ายในการปรับระบบการผลิตสินค้าเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกเพียงฝ่ายเดียว แต่ผู้ส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในอียูต้องมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปอยู่ระหว่างเปิดรับความเห็นต่อร่างกฎหมาย CBAM จนถึงเที่ยงคืนของวันที่ 28 ก.ย. 2564 (เวลาบรัสเซลส์)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ