ทริสฯ คงเครดิต กทม.ที่ AA+/Stable, มองขยายสัมปทานสายสีเขียวช่วยลดภาระหนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 9, 2021 16:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ระดับ "AA+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความสำคัญของ กทม.ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศไทย อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงรายได้ที่มีความแน่นอนของ กทม.ซึ่งมาจากภาษีอากร รวมทั้งการบริหารงบประมาณภายใต้นโยบายงบประมาณแบบสมดุล และการดำรงเงินสะสมในระดับสูงอีกด้วย โดยทริสเรทติ้งคาดว่า กทม.จะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลกลางต่อไป

ทั้งนี้ การประเมินอันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณารวมไปถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณของ กทม.จากความต้องการในการลงทุนจำนวนมากในระบบขนส่งมวลชนและโครงการด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ อีกเช่นกัน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการปกครองและเศรษฐกิจของประเทศ กทม.เป็นเมืองหลวงของประเทศไทยและเป็นเขตการปกครองที่สร้างผลผลิตแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าเขตการปกครองอื่น ๆ จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่ามูลค่าผลผลิตมวลรวมรายจังหวัด (Gross Provincial Product - GPP) ของ กทม.ในปี 2562 มีจำนวน 5.7 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 33.8% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product -GDP)

จากปี 2558 จนถึงปี 2562 เศรษฐกิจของ กทม.มีอัตราการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมรายจังหวัดที่แท้จริง (Real GPP Growth) สูงกว่าอัตราการขยายตัวของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP Growth) ของประเทศไทย กล่าวคือ เศรษฐกิจของ กทม.มีอัตราการขยายตัวที่ระดับเฉลี่ย 4.5% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 3.4% ต่อปี

  • โรคโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ทริสเรทติ้งคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะหดตัวที่ระดับ 0.4% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 หลังจากที่เติบโตที่ระดับ 2% ในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ระลอกที่ 3 เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา การแพร่ระบาดได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ เช่น ภาคการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงภาคการท่องเที่ยว ทริสเรทติ้งคาดว่าเศรษฐกิจของ กทม.จะหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศแต่จะมีอัตราที่ต่ำกว่าเนื่องจาก กทม.มีความหลากหลายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าส่วนอื่น ๆ ของประเทศ
  • คาดว่าจะขาดดุลการคลังในปีงบประมาณ 2564-2565 ในปีงบประมาณ 2564 (สิ้นเดือนกันยายน 2564) กทม.มีรายได้รวมที่ระดับ 6.97 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายได้ดังกล่าวคิดเป็นเพียง 92% ของประมาณการรายได้เดิมที่จำนวน 7.55 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ที่ต่ำกว่าประมาณการมีสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากการมีรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ลดลงประมาณ 1 หมื่นล้านบาทจากการที่รัฐบาลได้ให้ส่วนลด 90% สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้เสียภาษีเพื่อบรรเทาภาระทางการเงินในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

นอกจากนี้ กทม.ยังได้มีการตั้งงบรายจ่ายเพิ่มเติมอีกจำนวน 3.1 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่า กทม.จะมีผลขาดดุลการคลังสุทธิในปีงบประมาณ 2564 ในการนี้ เพื่อรับมือกับการลดลงของรายได้ กทม.จึงได้ปรับลดงบดำเนินการที่ไม่จำเป็นลงและมีการเลื่อนงบลงทุนบางส่วนออกไปเป็นในช่วง 2 ปีข้างหน้า

เนื่องจากรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ลดลงนั้นเป็นผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลกลางจึงจำเป็นจะต้องตั้งงบประมาณชดเชยให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบัน กทม.อยู่ในระหว่างการของบประมาณชดเชยจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาทจากการนำระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบบใหม่มาใช้ในปีงบประมาณ 2562-2563 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาและจำนวนงบประมาณชดเชยที่ กทม.จะได้รับอนุมัติจากรัฐบาล

สำหรับปีงบประมาณ 2565 นั้น กทม.วางแผนงบประมาณแบบสมดุลโดยตั้งประมาณการรายได้และรายจ่ายไว้ที่ระดับ 7.9 หมื่นล้านบาทเท่า ๆ กัน อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่ารัฐบาลจะยังคงให้ส่วนลดสำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อไป ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่ารายได้ของ กทม.จะอยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 และหลังจากนั้นจะกลับมาเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8 หมื่นล้านบาทในช่วงปีงบประมาณ 2566-2567 เมื่อรัฐบาลกลับมาจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราปกติและเศรษฐกิจของประเทศค่อย ๆ ฟื้นตัว

  • มีรายได้จากภาษีที่สม่ำเสมอ รายได้ส่วนใหญ่ของ กทม.มาจากภาษีอากรมากกว่า 90% ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งรายได้ที่มีความแน่นอนสูง ทั้งนี้ ภาษีอากรจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ภาษีอากรที่ กทม.จัดเก็บเองและภาษีอากรที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้และนำส่ง กทม.หรือจัดสรรโดยรัฐบาลกลาง ตามปกติแล้ว ภาษีอากรที่ กทม.จัดเก็บเองคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18% ของรายได้ทั้งหมด ในขณะที่ภาษีที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บส่งให้ กทม.คิดเป็นสัดส่วนหลักถึง 77%

รายได้หลักของ กทม.มาจากภาษีหลัก 4 ประเภทซึ่งได้แก่ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม รวมถึงภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์หรือล้อเลื่อน โดยมีสัดส่วนรวมกันคิดเป็นประมาณ 80% ของรายได้ทั้งหมดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ รายได้ที่จัดเก็บจากภาษีทั้ง 4 ประเภทดังกล่าวขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลยังอาจปรับลดอัตราภาษีบางประเภทลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย

ในช่วงปีงบประมาณ 2563-2564 รายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ กทม.ลดลง 75% จากระดับ 1.52 หมื่นล้านบาทเป็นประมาณ 2.9 พันล้านบาทเนื่องจากนโยบายของภาครัฐในการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปีงบประมาณ 2563-2564 ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ กทม.จะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปในปีงบประมาณ 2565 เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะให้ส่วนลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่ผู้เสียภาษีต่อไป ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะกลับสู่ระดับปกติเมื่อรัฐบาลปรับส่วนลดการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ในปีงบประมาณ 2566

  • นโยบายการคลังแบบสมดุล กทม.มีผลการดำเนินงานที่ดีซึ่งสอดคล้องกับการจัดทำงบประมาณภายใต้นโยบายการคลังแบบสมดุล ทั้งนี้ ตามระเบียบ กทม.เรื่องวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2529 นั้น การจัดทำงบประมาณของ กทม.จะประมาณการรายจ่ายให้อยู่ภายในวงเงินงบประมาณรายได้ ดังนั้น การประมาณการรายได้ที่ค่อนข้างระมัดระวังจะส่งผลให้ กทม.มีประมาณการรายจ่ายที่เหมาะสมและไม่เกินตัว ในกรณีที่การจัดเก็บรายได้น้อยกว่าประมาณการ กทม.ก็สามารถปรับปรุงรายจ่ายให้ลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในโครงการใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม ในบางปีงบประมาณอาจมีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมระหว่างปีเมื่อมีความจำเป็นโดยต้องมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนซึ่งอาจจะเป็นรายได้จากเงินสะสมของ กทม. หรือรายได้จากรายรับที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ เป็นต้น
  • ปรับลดงบลงทุนในปีงบประมาณ 2563-2564 รายจ่ายของ กทม.แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคืองบดำเนินการและงบลงทุน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนรายจ่ายของงบดำเนินการของ กทม.อยู่ที่ระดับประมาณ 75% ของรายจ่ายรวมรายปี โดยในปีงบประมาณ 2563 กทม.มีงบดำเนินการจำนวน 5.12 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับจำนวน 5.6 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2562 ส่วนรายจ่ายด้านบุคลากรซึ่งเป็นงบดำเนินการที่สำคัญประเภทหนึ่งของ กทม.นั้นคิดเป็นสัดส่วน 34% ของรายจ่ายรวมในปีงบประมาณ 2563

ในปีงบประมาณ 2563 งบลงทุนของ กทม.ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.44 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบกับระดับ 1.92 หมื่นล้านบาทในงบประมาณ 2562 โดย กทม.ได้ปรับลดและเลื่อนงบลงทุนบางส่วนออกไปเนื่องจากรายได้ที่ลดลง ในปีงบประมาณ 2564 กทม.มีการตั้งงบลงทุนที่จำนวน 1.56 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจาก กทม.เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศและมีความหนาแน่นของประชากรสูงที่สุด จึงทำให้มีความต้องการในการลงทุนด้านบริการสาธารณะที่สูง กทม.มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคของ กทม.ให้เอื้อประโยชน์ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการอยู่อาศัย ในการนี้ กทม.อาจพิจารณาขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลซึ่งเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การพิจารณาและอนุมัติเงินอุดหนุนจากรัฐบาลก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลานานซึ่งอาจจะทำให้ไม่ทันเวลาในการลงทุนบางโครงการ ที่ผ่านมา กทม.ได้ดำเนินงานผ่านทาง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกในการทำสัญญาและจัดหาเงินกู้เพื่อนำไปใช้ในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ในพื้นที่ กทม.

  • ภาระหนี้ส่วนใหญ่มาจากโครงการรถไฟฟ้า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 กทม.มีภาระหนี้ทั้งสิ้นจำนวน 5.1 หมื่นล้านบาท ทริสเรทติ้งพิจารณาให้ภาระหนี้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าซึ่งเป็นโครงข่ายหลักใน กทม.จำนวน 3.6 หมื่นล้านบาทนั้นเป็นส่วนหนึ่งของภาระหนี้รวมของ กทม.ด้วย โดยภาระหนี้ดังกล่าวประกอบไปด้วยเงินกู้สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วน มูลค่าปัจจุบันของค่าจัดหาขบวนรถไฟฟ้าภายใต้สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้า และสินเชื่อคงค้างจาก บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ในฐานะที่เป็นผู้รับเหมาภายใต้สัญญาการติดตั้งระบบการเดินรถ (ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล) สำหรับโครงการส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้ง 2 ส่วน ในขณะที่ภาระหนี้ส่วนที่เหลือประกอบไปด้วยมูลค่าปัจจุบันของภาระผูกพันทางการเงินจากสัญญาเช่ารถยนต์และรถเก็บขยะมูลฝอยจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทและเงินกู้ของบริษัทกรุงเทพธนาคมอีกจำนวน 2 พันล้านบาท
  • สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะช่วยหลีกเลี่ยงภาระหนี้ ภาระหนี้ของ กทม.จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเนื่องจาก กทม.จะต้องรับโอนสินทรัพย์จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มูลค่าประมาณ 5.18 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ณ เดือนกันยายน 2563 กทม.ได้รับโอนเงินกู้จำนวน 1.91 หมื่นล้านบาทจากกระทรวงการคลังสำหรับใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายส่วนใต้ ในขณะที่เงินกู้ส่วนที่เหลือสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายส่วนเหนือนั้นคาดว่าจะโอนให้ กทม.ภายในปีงบประมาณ 2565 นอกจากนี้ กทม.ยังต้องลงทุนในการติดตั้งระบบการเดินรถ (ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล) ในโครงการดังกล่าวซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาทอีกด้วย

เพื่อลดภาระหนี้จำนวนมาก กทม.อยู่ในระหว่างกระบวนการอนุมัติให้สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวแก่ BTS ซึ่ง กทม.คาดว่าจะมีการโอนภาระหนี้ของโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าวไปให้แก่ผู้รับสัมปทานเพื่อแลกเปลี่ยนกับสัมปทานการเดินรถไฟฟ้า ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทม.และ BTS ได้บรรลุข้อตกลงเงื่อนไขและข้อกำหนดสำหรับสัญญาสัมปทานแล้วและขณะนี้อยู่ในระหว่างรอความเห็นชอบจากรัฐบาล

  • สถานะสภาพคล่องอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง กทม.มีสถานะสภาพคล่องอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีดุลการคลังเกินดุลจำนวน 1.9 พันล้านบาทในปีงบประมาณ 2563 และมีเงินสะสมอยู่ที่ระดับ 4.96 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 ทริสเรทติ้งคาดว่า กทม.จะยังคงดำรงเงินสะสมให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อใช้สนับสนุนสภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ที่การจัดเก็บรายได้ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ต่อไป

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับผลการดำเนินงานของ กทม.ในระหว่างปีงบประมาณ 2564-2567 ดังต่อไปนี้
  • รายได้จะอยู่ที่ระดับ 7 หมื่นล้านบาทในปีงบประมาณ 2565 และจะปรับเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8 หมื่นล้านบาทในช่วงปีงบประมาณ 2566-2567
  • คาดว่าจะมีดุลการคลังขาดดุลในปีงบประมาณ 2564 และ 2565 และจะมีดุลการการคลังสมดุลในปีงบประมาณ 2566-2567
  • อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อรายได้ประจำจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 90% ตั้งแต่ในปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไปหาก กทม.ไม่สามารถเปลี่ยนภาระหนี้ทั้งหมดจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วนเป็นสัญญาสัมปทานได้

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนและนโยบายการบริหารงบประมาณแบบสมดุลของ กทม. โดยทริสเรทติ้งคาดว่า กทม.จะยังคงได้รับการสนับสนุนทางการเงินและงบอุดหนุนจากรัฐบาลกลางเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของภาครัฐต่อไป

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังไม่มีในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากมีโอกาสสูงที่ภาระหนี้ของ กทม.จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการรับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วน ในทางตรงกันข้าม การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นหาก กทม.มีการผ่อนปรนวินัยทางการเงินมากจนเกินไปหรือมีดุลการคลังขาดดุลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่จำกัดการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลในทางลบต่ออันดับเครดิตของ กทม.ด้วยเช่นกัน

  • ภาพรวมองค์กร กทม.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษและมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีระเบียบการบริหารราชการภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 (พ.ร.บ. กรุงเทพมหานคร) ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กทม.มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารงานในเขตพื้นที่ กทม.ซึ่งแบ่งออกเป็น 50 เขต โดย กทม.มีฐานะเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยและยังเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรม การศึกษา สังคม และเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

ภายใต้ พ.ร.บ. กรุงเทพมหานคร มาตรา 89 กำหนดให้ กทม.มีหน้าที่ดำเนินภารกิจหลักรวม 27 ภารกิจอันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาและการบริหารจัดการการให้บริการสาธารณะในหลากหลายด้านซึ่งครอบคลุมงานด้านระบบสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข การศึกษา การพัฒนาสภาพแวดล้อม และงานสวัสดิการ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญที่จะให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐานและบริการสาธารณะที่เพียงพอเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ กทม. รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาในด้านสังคมและเศรษฐกิจ

การบริหารราชการของ กทม.ดำเนินการโดยคณะบุคคล 2 ส่วน ส่วนแรกคือสภา กทม.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปีจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติและประชุมหารือเพื่อพิจารณาภารกิจทั้งหมดที่เป็นความรับผิดชอบของ กทม. ส่วนที่ 2 คือฝ่ายบริหารซึ่งมีผู้ว่าราชการ กทม.เป็นหัวหน้าที่มาจากการเลือกตั้งและอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยผู้ว่าราชการ กทม.จะแต่งตั้งรองผู้ว่าราชการ กทม.จำนวน 4 คนเพื่อมาช่วยในการบริหารงานโดยจะทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ส่วนการดำเนินงานตามนโยบายทั้งหมดนั้นจะมีปลัด กทม.เป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติการโดยมีข้าราชการ กทม.อยู่ภายใต้การกำกับดูแล

หลังจากการทำรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภา กทม.จำนวน 30 คนให้ปฏิบัติหน้าที่ด้านนิติบัญญัติในปี 2557 และมีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการ กทม.คนใหม่ในปี 2559 หลังจากนั้น คสช. ได้หมดหน้าที่ไปหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภา กทม.ชุดใหม่และผู้ว่าราชการ กทม.คนใหม่ในปี 2565


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ