(เพิ่มเติม) ครม.อนุมัติงบกลาง 574 ลบ. เยียวยาผู้เลี้ยงสุกรจากโรคระบาด ASF

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 11, 2022 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติประมาณรายจ่าย รายการงบกลาง ปี 65 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 574.11 ล้านบาท ในการป้องกันการระบาดของโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) หลังจากที่เกษตรกรได้มีการทำลายสุกรไปแล้วในช่วง 23 มี.ค.-15 ต.ค. 64 แต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา รวม 4,941 คน คิดเป็นจำนวนสุกร 1.59 แสนตัว รวมพื้นที่ทั้งหมด 56 จังหวัด

"จะจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. - 15 ต.ค. 64 ตาม ม.13(4) แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการประเมินตามกฎกระทรวงกำหนดค่าชดใช้ราคาสัตว์ที่ถูกทำลายอันเนื่องจากโรคระบาด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคระบาดหรือสัตว์ หรือซากสัตว์ที่เป็นพาหนะของโรคระบาด พ.ศ. 2560 แล้ว" โฆษกรัฐบาลกล่าว

โดยการอนุมัติงบกลางฯ ในครั้งนี้ เป็นการของบประมาณเพื่อจ่ายเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายในพื้นที่ 56 จังหวัด ดังนี้

  • ภาคกลาง 10 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี อ่างทอง ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา สระบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ และสุพรรณบุรี
  • ภาคตะวันออก 1 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว
  • ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เลย หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น อำนาจเจริญ หนองคาย บึงกาฬ ร้อยเอ็ด นครพนม อุดรธานี มุกดาหาร สกลนคร และยโสธร
  • ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์
  • ภาคใต้ 10 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ตรัง กระบี่ ระนอง นครศรีธรรมราช ชุมพร พัทลุง พังงา และสงขลา

นายธรกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีย้ำให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการตรวจสอบ สำรวจโรคตามหลักวิชาการ และมาตรฐานสากล พร้อมชี้แจงให้ประชาชนอย่างโปร่งใส ที่สำคัญต้องลดความเดือดร้อนของเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม ผู้ค้ารายย่อย โดยเฉพาะผู้บริโภคในขณะนี้ให้มากที่สุด

อย่างไรก็ดี การแพร่ะระบาดโรค ASF มีมากว่าร้อยปีแล้ว แต่ยังไม่มีวัคซีนและยาป้องกันหรือรักษาโรคได้ ซึ่งกรมปศุส้ตว์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันทำวิจัยในการพัฒนาวัคซีน โดยมีความคืบหน้าไปแล้ว 60-70% คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ในปีนี้ ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่สามารถผลิตวัคซีนโรค ASF ได้

นายธนกร ยังกล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการแก้ปัญหาสินค้าแพงทุกชนิดอย่างเป็นระบบครบวงจร พร้อมทั้งสั่งการกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว และดูแลไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ส่วนที่มีการวิเคราะห์ว่าหากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาหมูแพงได้ หมูอาจจะล้มรัฐบาลก่อนครบวาระนั้น นายกรัฐมนตรีถามกลับว่าใครเป็นคนวิเคราะห์ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังวิเคราะห์หาทางแก้ปัญหาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่นำประเด็นเหล่านี้ไปสร้างปัญหาเกี่ยวพันไปเรื่อย

ส่วนกรณีมีหนังสือจากภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ส่งถึงกรมปศุสัตว์ เพื่อแจ้งเหตุการพบไวรัส ASF ในประเทศไทย แต่กลับไม่ถึงมือ รมว.เกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมปศุสัตว์ จะต้องมีการตรวจสอบเรื่องนี้หรือไม่นั้น นายธนกร กล่าวว่า เรื่องนี้ให้สอบถามข้อเท็จจริงจาก รมว.เกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมปศุสัตว์

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตบทบาทการทำงานของ รมว.พาณิชย์ และรมว.เกษตรฯ ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งดูเหมือนเกียร์ว่างนั้น นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า รัฐมนตรีทุกคนก็ทำงานอย่างหนัก แต่อาจจะมีการสื่อสารน้อยไป จึงขอให้มีการประสัมพันธ์ให้มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ