ครม.เตรียมปรับลดโครงการบ้านเอื้ออาทรให้สอดคล้องความต้องการที่แท้จริง

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday December 2, 2007 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องฯ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ขออนุมัติปรับลดขนาดโครงการบ้านเอื้ออาทรให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงเพื่อไม่ให้เกิดภาระต่อระบบการคลังในอนาคต พร้อมทั้งปรับลดค่างวดผ่อนส่งเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย
"ที่ประชุมมีมติให้ปรับลดเป้าหมายจำนวนหน่วยก่อสร้างจากเดิมที่กำหนดไว้ 601,727 หน่วย เหลือ 369,000 หน่วย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงลดภาระของภาครัฐและการเคหะฯ ในอนาคต" นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ทั้งนี้ หากการเคหะแห่งชาติ(กคช.) ก่อสร้างครบ 601,727 หน่วยตามจำนวนที่กำหนดไว้จะต้องใช้วงเงินลงทุนรวม 273,209 ล้านบาท โดยรัฐต้องจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มอีก 30,200 ล้านบาท และต้องจัดหาแหล่งเงินกู้เพื่อการลงทุนอีก 167,293 ล้านบาท ซึ่งในสิ้นปี 55 กคช.จะรับภาระหนี้ 95,000 ล้านบาท แต่หากปรับลดเป้าเหลือ 369,000 หน่วยใช้เงินลงทุนเพียง 183,400 ล้านบาท รัฐต้องจัดสรรเงินอุดหนุน 10,300 ล้านบาท รวมถึงจัดหาเงินกู้เพื่อลงทุนอีก 92,500 ล้านบาท พอถึงสิ้นปี 55 กคช. จะมีภาระหนี้สินเพียง 27,300 ล้านบาทเท่านั้น
"กระทรวงคลังเห็นว่าการลงทุนในโครงการต้องใช้เงินกู้สูงถึง 82% และที่สำคัญหากก่อสร้างเสร็จแต่ไม่สามารถขายได้ทั้งหมด หรือผู้ซื้อไม่ผ่านการพิจารณาให้สินเชื่อจากธนาคารจะส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของการเคหะฯ ทั้งด้านหนี้สินและภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้นด้วย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยจึงจำเป็นต้องลดเป้าหมายการก่อสร้างลงจะเป็นผลดีกว่า" นายโชติชัย กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมจะเสนอขออนุมัติแนวทางแก้ปัญหาสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยให้การเคหะแห่งชาติ(กคช.) ศึกษาแนวทางที่จะให้สถาบันการเงินจัดสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยคงที่ต่ำ เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถจ่ายเงินผ่อนได้ไม่เกินเดือนละ 1,500-1,800 บาท เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำ และการใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวจะทำให้ลูกค้าผ่อนค่างวดของเงินต้นและดอกเบี้ยรวมกันถึงเดือนละ 2,400 บาท ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาเอ็นพีแอลในอนาคตได้
"ปัจจุบันผู้ซื้อบ้านในโครงการหลายรายประสบปัญหาผ่อนชำระเงิน เนื่องจากธนาคารปรับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเกินกว่า 4% ที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มโครงการ ทำให้ผู้ซื้อส่วนหนึ่งยกเลิกการทำสัญญา หรือไม่อาจผ่อนชำระได้ หรือบางส่วนขาดการผ่อนติดต่อกัน 3 เดือน ซึ่งเป็นภาระของการเคหะฯ ในการรับซื้อคืนจากธนาคาร" นายโชติชัย กล่าว
โดย กคช.จะขอให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ขยายวงเงินหมุนเวียน หรือเงินเบิกเกินบัญชี เพื่อให้ กคช.ไว้รับซื้อคืนอาคารและนำกลับมาขายใหม่กรณีที่ผู้ซื้อขาดก่อนผ่อนชำระติดต่อกัน 3 เดือน ในปี 51 วงเงิน 480 ล้านบาท ส่วนปัญหาที่ยังน่าเป็นห่วงคือเรื่องของผู้ซื้อบ้านในโครงการประมาณ 60% ไม่ผ่านการพิจารณาการให้สินเชื่อจากธนาคารเพราะไม่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข ซึ่งตรงนี้ยังเป็นภาระที่ กคช.ต้องเข้าไปช่วยเหลือ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ