กยท.คาดส่งออกยางพาราปีนี้โตจากปีก่อน แม้เผชิญวิกฤตยูเครน-รัสเซีย เชื่อราคาเป็นขาขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 25, 2022 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง เปิดเผยว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้รายงานคาดการณ์ปริมาณผลผลิตยางพารา ปี 65 มีปริมาณ 4.907 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.48% คาดการณ์ปริมาณการส่งออกยางพารา ปี 65 มีปริมาณ 4.218 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.03% ซึ่งในปี 63 สัดส่วนการส่งออกยางพาราของไทย มีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีน มากที่สุด ในปี 64 มีปริมาณการส่งออกไปยังประเทศจีน 54% รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย 10% สหรัฐอเมริกา 6% ญี่ปุ่น 5% และเกาหลีใต้ 3%

โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเสถียรภาพและราคายาง ได้แก่ การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะประเทศจีน ตลอดจนการเกิดปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ฯลฯ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงาน ดังนี้

1) Supply side ด้านการปลูกแทนพื้นที่ยางพาราและเป้าหมายการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกแทน ปี 65 ของการยางแห่งประเทศไทย มีเป้าหมายดำเนินการ พื้นที่รวม 200,000 ไร่ โดยได้ดำเนินการปลูกแทนไปแล้ว จำนวน 150,641.15 ไร่ คิดเป็น 75.32% แบ่งออกเป็น 1. การตัดยางเก่าเป้าหมายปีละ 1 แสนไร่ โดยปลูกยางใหม่ทดแทนด้วยยางพันธุ์ดี สามารถดำเนินการคืบหน้าได้แล้ว 83,645.10 ไร่ 2. การตัดยางเก่า 1 แสนไร่ โดยปลูกไม้ยืนต้นเชิงเดี่ยวทดแทน มีความคืบหน้า 54,356 ไร่ เกษตรกรรมยั่งยืน6,536.35 ไร่ และแบบสวนยางยั่งยืน 6,103.70 ไร่ ข้อมูล ณ วันที่ 21 มี.ค.65 ทั้งนี้ กยท. คาดการณ์ว่าราคายางพาราช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนยังอยู่ในช่วงขาขึ้น

2) ความคืบหน้าโครงการจัดตั้งพื้นที่บริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ (Rubber Valley) เพื่อศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป้าหมายที่มีศักยภาพรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ปี 65

นายอลงกรณ์ ได้ให้ข้อสังเกตในการกำหนดรูปแบบการบริหารโครงการว่า ควรมีการกำหนดตั้งแต่ต้นว่าควรจะเป็นการบริหารจัดการในรูปแบบใด ยกตัวอย่างเช่น การบริหารแบบบริษัทร่วมทุน และควรมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นร่วมไปพร้อมกับการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมยางพาราด้วย เช่น ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ เป็นต้น

3) การดำเนินการเก็บข้อมูลผลผลิตยางพารา (Productivity) และรายได้เฉลี่ยต่อไร่ของเกษตรกรผู้ปลูกยางในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนตัวชี้วัดด้านผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง ตามแผนวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย ระยะ 7 ปี (64-70) ตามยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยในปีงบประมาณ 2565 การยางแห่งประเทศไทย จะดำเนินการเก็บข้อมูลผลผลิตยางพาราและรายได้เฉลี่ยต่อไร่ของเกษตรกรผู้ปลูกยางในประเทศไทย จากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ในพื้นที่ 45 จังหวัด ทั่วประเทศเพื่อยกระดับการเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรให้สูงขึ้น

นายอลงกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โควิด-19 และสงครามยูเครน-รัสเซีย รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมัน และค่าเงินบาทยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ กยท. ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมีผลทั้งทางบวกและทางลบต่อราคายางและการส่งออกของไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ