ธ.ก.ส. คาดมิ.ย.ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ปรับขึ้น ขานรับมาตรการเปิดปท.-บาทอ่อนหนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 2, 2022 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธ.ก.ส. คาดมิ.ย.ราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ปรับขึ้น ขานรับมาตรการเปิดปท.-บาทอ่อนหนุน

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือน มิ.ย. 65 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมาตรการเปิดประเทศ เปิดสถานบันเทิง และค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ น้ำตาลทรายดิบ ปาล์มน้ำมัน สุกร โคเนื้อ และกุ้งขาวแวนนาไม ยกเว้นมันสำปะหลัง และยางพาราดิบ ที่มีแนวโน้มราคาปรับลดลง

สำหรับสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ในเดือน มิ.ย. 65 ได้แก่

  • ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,896-9,046 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.37%-5.12% เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดลดลงจากการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบที่ 1 และแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้ประเทศคู่ค้านำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น
  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 12,604-12,799 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.72-3.29% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศคู่ค้าในตะวันออกกลางมีรายได้เพิ่มขึ้น อาทิ อิรัก อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย จึงต้องการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยเพิ่มขึ้น
  • ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 8,744-8,806 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.35-1.07% เนื่องจากมีความต้องการใช้ในเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง ประกอบกับความต้องการนำเข้าข้าวเหนียวของจีนเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในเทศกาลแข่งขันเรือมังกร
  • ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้นไม่เกิน 14.5% ราคาอยู่ที่ 10.17-10.33 บาท/ก.ก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.92-2.51% เนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นยังอยู่ในระดับสูง แม้จะมีมาตรการลดภาษีนำเข้า แต่คาดว่าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์บางประเภทยังสูงกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ จึงทำให้ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้น
  • น้ำตาลทรายดิบ ราคาอยู่ที่ 20.45-20.98 เซนต์/ปอนด์ (15.41-15.81 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.35-7.45% เนื่องจากอินเดียจำกัดการส่งออกน้ำตาล เพื่อแก้ปัญหาราคาและปริมาณน้ำตาลให้เพียงพอบริโภคภายในประเทศ ซึ่งอินเดียเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำตาลสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ประกอบกับราคาน้ำมันดิบยังคงสูงขึ้นต่อเนื่อง กระตุ้นให้ผู้ประกอบการเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอล
  • ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 10.91-11.15 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3.90-6.19% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ความต้องการใช้พืชพลังงานทดแทนโดยเฉพาะปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น
  • สุกร ราคาอยู่ที่ 96.59-98.99 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.67-3.17% เนื่องจากปริมาณผลผลิตสุกรทั้งประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคและปัญหาต้นทุนการผลิตสุกรสูง ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงชะลอการเลี้ยงสุกรเพื่อลดความเสี่ยง ทำให้ปริมาณสุกรในประเทศลดลง ขณะที่การบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ ตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค. เป็นต้นมา ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและสถานบันเทิงเริ่มกลับมาเปิดได้ตามปกติ
  • โคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 100.20-105.85 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.10-5.74% เนื่องจากการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบกับสถานบันเทิง ผับ บาร์ และคาราโอเกะ กลับมาเปิดดำเนินกิจการ ส่งผลให้ความต้องการบริโภคอาหารรวมถึงเนื้อโคปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • กุ้งขาวแวนนาไม (70 ตัว/กก.) ราคาอยู่ที่ 155.37-156.38 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.55-2.21% เนื่องจากมาตรการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ สนับสนุนให้การท่องเที่ยวในประเทศค่อยๆ ฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจร้านอาหาร ประกอบกับการส่งออกกุ้ง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความต้องการของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

ส่วนสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง ในเดือน มิ.ย. 65 ได้แก่

  • มันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.40-2.48 บาท/กก. ราคาลดลงจากเดือนก่อน 0.80-4.00% เนื่องจากเป็นช่วงที่โรงงานแป้งมันสำปะหลัง เริ่มปิดปรับปรุงเครื่องจักรในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง ทำให้การซื้อขายมันสำปะหลังลดลง ประกอบกับเป็นช่วงต้นฤดูฝนที่มีฝนตกชุก และตกหนักในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตมันสำปะหลังมีคุณภาพเชื้อแป้งลดลง
  • ยางพาราแผ่นดิบ ราคาอยู่ที่ 59.25-60.93 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน 0.10-2.85% เนื่องจากปริมาณยางพาราเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น โดยแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญของประเทศในภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มเปิดกรีดยาง ประกอบกับราคายางพาราตลาดล่วงหน้าโตเกียว มีแนวโน้มลดลงจากความกังวลเรื่อง มาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน จึงมีการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น อาทิ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แทนการลงทุนในสัญญาซื้อขายยางพาราล่วงหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ