(เพิ่มเติม) นายกฯ เผยขอความร่วมมือลดค่าการกลั่น/สุพัฒนพงษ์ ยันมีแนวทางแล้ว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2022 15:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า ได้รับทราบจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานว่า ได้ขอความร่วมมือโรงกลั่นไปแล้วในการลดค่าการกลั่นน้ำมันเพื่อช่วยบรรเทาภาระด้านพลังงานให้กับประชาชน

"ขณะนี้หาทางอยู่ในเรื่องการกลั่น ให้ตรวจสอบไปแล้วว่า เป็นการขอความร่วมมือเพราะกฎหมายมีอยู่ ...รัฐบาลลดในส่วนรัฐบาลไปเยอะแล้ว ทั้งภาษี เหลือแต่โรงกลั่น ซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองอยู่ ขอความร่วมมือไปแล้ว" นายกฯ ระบุ

พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลทำทุกอย่างเต็มที่ในกรอบที่สามารถดำเนินการได้ และพยายามดูแลหลายมิติ ทั้งค่าน้ำค่าไฟ ค่าก๊าซ แม้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ต้องหาเงินมาเสริม มากน้อยก็ต้องทำ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน กล่าวถึงข้อเสนอของนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีต รมว.คลัง ในการคุมเพดานค่าการกลั่นเพื่อเป็นการป้องกันการทำกำไรเกินควรและลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า เราไม่ได้วางใจเรื่องการดูแลภาษีลาภลอย แต่เรามีข้อสรุปแล้ว

ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือหลายฝ่าย ทั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา พอมีช่องตามกฏหมายของกระทรวงพลังงาน เช่น อะไรที่ได้กำไรเกินค่าเฉลี่ยก็ควรจะลด หรือเก็บเพิ่มค่าน้ำมันหน้าโรงกลั่นเข้ากองทุนน้ำมัน แต่จะเก็บเท่าไหร่ อย่างไร ดูให้เหมาะสม เพราะมีข้อสัญญาโรงกลั่นในอดีตซึ่งต้องไม่ให้ขัดกับข้อกฏหมาย

คณะทำงานของกระทรวงพลังงานได้รายงานว่า ปัจจุบันกำไรจากค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5 บาทกว่าต่อลิตร และหากดูค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 2 บาทกว่า และเทียบช่วงโควิดเหลือไม่ถึงบาท ซึ่งในช่วงดังกล่าวโรงกลั่นทุกโรงหยุดกำลังการผลิตไป หรือไม่ได้เพิ่มกำลังผลิตมา 2 ปี เมื่อดีมานด์เพิ่มขึ้น กำลังการผลิตไม่พอ ราคาก็ปรับขึ้นไป

"เตรียมมาตรการออกมาเป็นชุดเลย ไม่ใช่แค่โรงกลั่นอย่างเดียว จะมีโรงแยกก๊าซด้วย อาจต้องเข้าครม. เพราะต้องถามอัยการและกฤษฏีกาเพราะมีข้อตกลงของโรงกลั่นอยู่ที่มีสัญญาในอดีต กำลังดูอยู่ว่าจะออกกฏกระทรวงหรือไม่ แต่ทิศทางมีแล้ว ถ้าเป็นเรื่องพลังงานทำได้เลย เราทำแน่นอน"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ส่วนเป็นตามข้อเสนอพรรคกล้าหรือไม่นั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เราทำก่อนพรรคกล้าเสนอ แนวทางไม่ได้ต่าง เหมือนกันทั้งโลก เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่ทำตามใคร เรื่องพวกนี้รัฐบาลต้องดูแลอยู่แล้ว ตนเองก็ใจร้อน แต่ต้องทำให้ถูกกฏระเบียบด้วย ซึ่งหลายประเทศยังไม่ได้ทำ เพราะมีความอ่อนไหวต่อบรรยากาศการลงทุน ที่อาจถูกมองว่า รัฐเข้ามาควบคุมกลไกตลาดเสรีหรือไม่ แม้บางประเทศในยุโรปได้ดำเนินการแล้ว เช่น อังกฤษก็ต้องเข้าสภาด้วย

ส่วนแหล่งเงินอาจจะกู้เงินในส่วนของกองทุนน้ำมัน ซึ่งต้องหารือกับกระทรวงการคลัง โดยสถานะปัจจุบันกองทุนน้ำมันติดลบไป 8.5 หมื่นกว่าล้านบาท ส่วนค่าไฟอาจต้องมีการชะลอการขึ้นค่าเอฟที แต่ยืนยันว่า ประชาชนที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยจะไม่ได้รับผลกระทบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ