ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คง GDP ปีนี้ 2.9% มองกรอบปีหน้า 3.2-4.2% คาดหวังท่องเที่ยวหนุนศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 28, 2022 14:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เริ่มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ นำโดยสหรัฐฯ ในขณะที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว มองว่า ปลายปี 65 ต่อช่วงต้นปีหน้า เศรษฐกิจสหรัฐฯ คงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคอีกครั้ง (Technical Recession) เช่นเดียวกับเศรษฐกิจยุโรปที่คงจะเห็นภาวะดังกล่าวที่ GDP หดตัวจากไตรมาสก่อนหน้า (Quarter-on-Quarter Contraction) ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 ไตรมาส ทำให้การฟื้นตัวของไทยคาดหวังแรงส่งจากฝั่งการส่งออกได้ลดลง นอกจากนี้สถานการณ์เงินเฟ้อโลกจะยังไม่ลดลงเร็ว โดยได้รับแรงกดดันจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อ

"ยังไม่มองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย (Global Recession) แต่มองภาพของปีหน้าว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมาก (Global Slowdown) ซึ่งก็ไม่ได้มองว่า GDP โลกจะติดลบ แต่ยังคงมีวิกฤติทั้งเงินเฟ้อ ทิศทางการขึ้นดอกเบี้ย และพลังงาน ขณะที่เริ่มเห็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ส่วนราคาน้ำมันปีหน้ายังไม่ลงเท่าปี 64 มีแนวโน้มเป็นขาขึ้น กระทบเงินเฟ้อที่จะทรงตัวต่อในระดับสูง" น.ส.ณัฐพร กล่าว

ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 65 ต่อเนื่องถึงปี 66 จึงต้องพึ่งพาแรงส่งจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ไว้ที่ 9.75 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 7.2 ล้านคน ขณะที่ปี 66 จำนวนนักท่องเที่ยวคาดว่าจะขยับขึ้นมาที่ 13.0-20.0 ล้านคน ซึ่งยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดที่ 40 ล้านคนอย่างมีนัยสำคัญ

น.ส.ณัฐพร กล่าวว่า โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรฯ จึงยังคงประมาณการ GDP ของปี 65 ไว้ที่ 2.9% ขณะที่ แม้ในปี 66 GDP จะขยายตัวเร่งขึ้นมาที่กรอบ 3.2-4.2% โดยภาคการท่องเที่ยวยังเป็นแรงส่งหลัก ภาคส่งออกชะลอตามเศรษฐกิจโลก ภายใต้ภาครัฐที่ยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ขณะเดียวกัน ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงให้ติดตามทั้งเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ย และภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลายประเทศ

ด้านแนวโน้มดอกเบี้ย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ และอาจลากไปถึงช่วงแรกของปีหน้า หรือดอกเบี้ยอยู่ที่ 5% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับระดับความแรงของอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ และขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในแต่ละครั้งของเฟด

"ถ้าเฟดประเมินว่าเงินเฟ้อจะทยอยลดลง เฟดน่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ย โดยหยุดอยู่ที่ 4.5% สิ้นปีนี้ แต่ทิศทางค่าเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าต่อ ซึ่งมีผลกดดันสกุลเงินภูมิภาคอื่นๆ รวมทั้งเงินบาทที่อ่อนค่าอยู่ขณะนี้" น.ส.ณัฐพร กล่าว

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย คงปรับขึ้นต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกของปี 66 เป็นอย่างน้อย แต่ในขนาดการปรับขึ้นที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยมองว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ จะมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ ขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% ซึ่งตีความได้ว่าคณะกรรมการฯ มองปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยชั่วคราว

ส่วนเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 65 นี้ คาดว่าจะยังเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่า ตราบใดที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับปี 40 มองว่า ปัจจัยไม่เหมือนกัน ในปี 40 ได้มีการนำเงินทุนสำรองมาต่อสู้กับเงินบาทที่อ่อนค่า ขณะที่ปีนี้ถ้าในไตรมาส 4/65 นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาตามคาด ไทยอาจไม่ขาดดุล และการแทรกแซงค่าเงินของปีนี้ก็คงไม่เหมือนปี 40 แต่จะเป็นการรักษาเสถียรภาพไม่ให้เงินบาทอ่อนค่ามากไปกว่านี้มากกว่า

"เงินบาทที่อ่อนค่าขณะนี้ รู้สาเหตุว่ามาจากการที่ดอลลาร์แข็งค่า แต่ความกังวลจะมากขึ้นถ้าบาทไหลมากกว่านี้ เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการเก็งกำไร ถ้าเงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง กนง. อาจต้องประเมินสถานการณ์ พิจารณาปรับดอกเบี้ยให้แรงขึ้นกว่าเดิม ส่วนทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุนในปี 65 ยังมีเงินทุนไหลเข้าเป็นบวก แม้เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยไปที่ 1.25% ขณะที่ไทยยังไม่ถึง 1% มองว่าช่องว่างของดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ยังไม่ทำให้เงินทุนไหลออกแบบ 1 ต่อ 1" น.ส.ณัฐพร กล่าว

ด้าน น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า สัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ดังกล่าว ผนวกกับนโยบายการปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ กลับมาที่ 0.46% ตั้งแต่ต้นปี 66 นั้น คงทำให้ธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ และเงินกู้มาตรฐานตาม แม้ว่าสภาพคล่องจะอยู่ในระดับสูง

"หากกนง. ขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ จะแตกต่างจากครั้งก่อนที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษจะเป็นกลุ่มที่ปรับตัวก่อน และจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยทั้งฝั่งเงินฝากและฝั่งกู้ยืม โดยประมาณการขึ้นดอกเบี้ยไว้ที่ 0.125-0.25% ทั้งนี้ ความเร็วในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของแต่ละธนาคารไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร" น.ส.ธัญญลักษณ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้มองว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จะไม่ส่งผลให้เกิดภาวะการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Cliff) เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เร่งปรับโครงสร้างหนี้และบริหารจัดการหนี้ในเชิงรุก แต่ประเด็นเรื่องคุณภาพหนี้และการช่วยเหลือลูกค้า ก็ยังต้องจับตาอย่างต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดการณ์สัดส่วนหนี้ด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ในกรอบ 2.90-3.10% ภายในสิ้นปีหน้า เทียบกับ 2.88% ณ สิ้นไตรมาส 2/65 ส่วนแนวโน้มสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 4.5-6.0% ในปี 66 เทียบกับประมาณ 5.0% ในปีนี้ ซึ่งถือว่าไม่ได้สูงมาก ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่มาก

"ประเด็นคุณภาพหนี้ กลุ่มสินเชื่อรายย่อยทั้งสินเชื่อบ้าน รถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล มีความน่าเป็นห่วงทั้งหมด จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่มีแรงจ่ายชำระหนี้ ทั้งนี้ เชื่อว่า ธปท. จะเข้าไปดูแลโครงสร้างหนี้ หรือยืดหนี้ออกไปให้ยาวขึ้น ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวจากการท่องเที่ยว คาดการณ์สินเชื่อปีหน้าโตในกรอบ ระมัดระวังตามทิศทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่" น.ส.ธัญญลักษณ์ กล่าว

ด้าน น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในช่วงที่เหลือของปีนี้และปี 66 นั้น ยังเผชิญสภาวะที่ท้าทายอยู่มาก โดยเฉพาะจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักในโลกที่เป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย ทำให้อุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกอาจไม่ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่าอย่างเต็มที่

"ภาคอุตสาหกรรม ยังคงมีความท้าทายในปีนี้ถึงปีหน้า ไม่ว่าเงินบาทจะอยู่ที่เท่าไหร่ก็ตาม มองว่าทิศทางภาคอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก" น.ส.เกวลิน กล่าว

สำหรับภาคการท่องเที่ยวก็เช่นกัน ตลาดนักท่องเที่ยวหลักที่เดินทางมา เผชิญปัญหาค่าเงินที่อ่อนและบางประเทศเผชิญความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย ประกอบกับราคาพลังงานที่สูงดันค่าโดยสารเครื่องบินและค่าใช้จ่ายรายการอื่นๆ ให้แพงขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางหรือใช้จ่าย

ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาท 10-15% จะกระทบต้นทุนนำเข้าภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยประมาณ 2.2% ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องเตรียมตัวรับมือ เส้นทางของการฟื้นตัวในปีหน้าจึงยังไม่ถือว่าราบรื่นนัก

"จำนวนนักท่องเที่ยวในปีหน้ามองอยู่ที่ 13-20 ล้านคน ภายใต้สมมติฐานว่านักท่องเที่ยวจีนกลุ่มใหญ่ยังไม่กลับมา และจะทยอยกลับมาครึ่งปีหลัง 66 อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวของไทยยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับเมื่อก่อน สำหรับการประเมินผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม มองว่าภาคเหนือและภาคอีสานได้รับผลกระทบมากสุดจากน้ำแช่ขัง โดยเฉพาะพื้นที่เกษตร มองมูลค่าผลกระทบอยู่ที่ 2-3 พันล้านบาท ซึ่งผลกระทบนี้ยังไม่รวมพายุที่จะเข้ามาอีกหลายลูก และอาจมีปัจจัยอื่นๆ ตามมาอีก" น.ส.เกวลิน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ