(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.ชี้บาทอ่อนจากดอลลาร์กดดันเป็นหลัก ยันไม่ฝืนทิศทางตลาดเพราะมีบทเรียนปี 40

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 4, 2022 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.ชี้บาทอ่อนจากดอลลาร์กดดันเป็นหลัก ยันไม่ฝืนทิศทางตลาดเพราะมีบทเรียนปี 40
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในระยะนี้ มาจากปัจจัยดอลลาร์แข็งค่าเป็นหลัก โดยดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าถึง 17-18% และย้ำว่าการที่บาทอ่อนค่า ไม่ได้เป็นเพราะมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงล่าสุด พบว่ามีเงินไหลเข้าสุทธิราว 3.5 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทถือว่ายังเป็นการอ่อนค่าอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค
"การอ่อนค่าของเราไม่ได้เพี้ยนไปจากภูมิภาค อยู่ในระดับกลางๆ ของกลุ่ม...มีคำถามว่า บาทอ่อน เป็นเพราะเงินทุนไหลออกจากส่วนต่างดอกเบี้ยจริงเปล่า คำตอบคือ ไม่ ในภาพรวมเราไม่ได้เห็นเงินทุนไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ...ธปท.จะไม่ฝืนทิศทางตลาด เพราะรู้ว่าทำไม่ได้ เราเคยมีบทเรียนจากวิกฤติปี 2540 มาแล้ว" ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ

พร้อมย้ำว่า การที่ได้เห็นเงินบาทอ่อนค่าไปแตะระดับ 38 บาท/ดอลลาร์ ไม่ได้หมายความว่าประเทศขาดเสถียรภาพ เพราะเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง เงินทุนสำรองฯ อยู่ในระดับสูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก โดยเงินทุนสำรองฯ ต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น มีสัดส่วนอยู่ที่ 3.2 เท่า ตลอดจนฐานะการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ก็มีความแข็งแกร่งด้วยเช่นกัน ขณะที่คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย จะสามารถกลับมาเกินดุลได้ในปี 66

ผู้ว่าธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง และทั่วถึงมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว และตลาดการเงินจะมีความผันผวนสูงก็ตาม โดยคาดการณ์ GDP ไทยปี 65 โต 3.3% ก่อนขยายตัวเป็น 3.8% ในปี 66 จากแรงส่งหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้อยู่ที่ 9.5 ล้านคน และเพิ่มเป็น 21 ล้านคนในปี 66

"ตอนนี้ เริ่มเห็นการบริโภคในประเทศฟื้นตัวจากรายได้ ทั้งในและนอกภาคเกษตร แต่อีกตัวที่จะมาช่วยเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คือเรื่องท่องเที่ยว เพราะถ้าท่องเที่ยวไม่ฟื้น เศรษฐกิจไทยคงจะฟื้นต่อได้ยาก เพราะรายได้จากการท่องเที่ยว คิดเป็น 12% ของจีดีพี ส่งผลให้เกิดการจ้างงานทั้งทางตรง และทางอ้อม หรือ 1 ใน 5 ของการจ้างงานโดยรวม" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

พร้อมเชื่อว่า จะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิดได้ราวปลายปีนี้ ถึงต้นปี 66

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อถึงสถานการณ์เงินเฟ้อของไทยว่า ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อยู่ที่ประมาณ 7% ซึ่งถือว่าสูงหลุดกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ระดับ 1-3% ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงมาจากด้านอุปทานเป็นสำคัญ และคาดว่าจะเริ่มทยอยคลี่คลายลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในช่วงกลางปี 66 ซึ่งทั้งปี 66 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.6% จากในปีนี้เฉลี่ยที่ 6.3%

ทั้งนี้ ต้องจับตาเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) อย่างใกล้ชิด เพราะจะเป็นตัวที่สะท้อนว่าเครื่องยนต์เงินเฟ้อของประเทศติดมากน้อยเพียงใด แต่อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อพื้นฐานในระยะหลัง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงแล้ว

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงินของไทยว่า โจทย์สำคัญที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือต้องทำให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในลักษณะของ Smooth takeoff การฟื้นตัวไม่สะดุด โดยมองว่าบริบทด้านเศรษฐกิจของไทย แตกต่างจากในต่างประเทศทั้งฝั่งอเมริกา และยุโรป ที่พยายามจะลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจเป็นลักษณะ Smooth Landing ดังนั้นเมื่อบริบทของเศรษฐกิจแตกต่างกัน การดำเนินนโยบายการเงินของไทยจึงต่างกัน การปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงมีความเหมาะสมกับบริบททางเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าการเร่งขึ้นดอกเบี้ยแบบเร็วและแรง

"ยอมรับว่าที่ผ่านมา ดอกเบี้ยของเราต่ำอย่างผิดปกติมายาวนาน ดังนั้นต้องปรับให้กลับเข้าสู่ภาวะที่ปกติ เพื่อดูแลเงินเฟ้อไม่ให้สูง...แต่เราก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็ว และแรงแบบที่ทางสหรัฐอเมริกา หรือทางยุโรปทำกัน เพราะบริบทของเราไม่เหมือนกับเขา" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อมองไปข้างหน้าการที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนนั้น จะต้องประกอบไปด้วย 3 แนวทาง คือ 1. การดูแลเรื่องหนี้ครัวเรือน เพื่อให้ทยอยปรับลดลง จากปัจจุบันที่หนี้ครัวเรือน ไตรมาส 2/65 อยู่ที่ระดับ 88% ของจีดีพี ซึ่งจะต้องมีการแก้ปัญหาอย่างครบวงจร ทำให้ถูกหลักการ โดยจะไม่ใช้มาตรการช่วยเหลือแบบปูพรม ไม่ออกมาตรการที่สร้างภาระเพิ่มให้แก่ลูกหนี้ ขณะเดียวกันจะต้องไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ

2. ดูแลความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ให้ภาคการเงินช่วย Facilitate ให้เศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน และ 3. จัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินดิจิทัล เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ โดยเร่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน Digital payments เช่น cross border payment, PromptBiz และ dStatement


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ