(เพิ่มเติม) เวิลด์แบงก์เพิ่มคาดการณ์อัตราขยายตัว ศก.ไทยปี 51 มาที่ 5% จากเดิม 4.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 1, 2008 11:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์)เปิดเผยรายงาน"ตามติดเศรษฐกิจไทย"ฉบับล่าสุดในวันนี้ โดยได้ปรับอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 51 ขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5% จากที่เคยคาดว่าจะเป็น 4.6% และได้ปรับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 50 มาที่ 4.8% จากที่เคยคาดว่าจะเป็น 4.3%
"คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.0 ในปีนี้ จากฐานที่ต่ำที่ร้อยละ 4.8 ในปีที่แล้ว โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
เวิลด์แบงก์ คาดว่าในปี 51 การส่งออกของไทยจะขยายตัว 12.5% ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 20% โดยไทยจะเกินดุลการค้าลดลงเหลือ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ จาก 1.2 หมื่นล้านเหรียญในปี 50
ส่วนดุลบริการและเงินโอนสุทธิจะเกินดุล 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจาก 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีก่อน ซึ่งทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากที่เกินดุล 1.49 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 50
น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์เวิลด์แบงก์ กล่าวว่า การฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนในปีนี้น่าจะช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวต่อไปได้ ขณะเดียวกันปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็น ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก หรือราคาน้ำมันและสินค้าที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม
สิ่งท้าทายมากที่สุดในปีนี้คือ การทำให้ภาคส่งออกยังสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วเช่นในปีที่ผ่านมา รวมทั้งการกระตุ้นการบริโภคเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงในปีนี้และการที่ค่าเงินบาทของไทยถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อการเติบโตของภาคส่งออกของไทยได้
"อัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวในระดับสูงเนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 50 และความไม่แน่นอนของการส่งออกอาจจะชะลอการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศได้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
และแม้ว่ารัฐบาลไทยจะได้ออกมาตรการระยะสั้นมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยลดผลกระทบจากความเสี่ยงบ้างแล้วก็ตาม ธนาคารโลกยังเห็นว่ายังมีมาตรการระยะยาวอีกหลายอย่างที่สามารถทำได้ เพื่อช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยและส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การเพิ่มผลิตภาพในทุกภาคการผลิต, การปรับปรุงกฎระเบียบภาครัฐ, การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจฐานความรู้, การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่กระแสการแข่งขันจากนานาประเทศมีความเข้มข้นมากขึ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถใช้มาตรการทางการคลังเป็นเครื่องมือช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดที่จะใช้มาตรการทางการเงิน

แท็ก ธนาคารโลก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ