นักวิชาการห่วงฐานะการคลัง-หนี้สาธารณะพุ่ง ใกล้เลือกตั้งรบ.-พรรคการเมืองโหมประชานิยม

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday October 16, 2022 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ได้กล่าวแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์สังคมชราภาพและการแข่งขันการใช้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆในช่วงใกล้เลือกตั้ง ว่าปัญหาโครงสร้างประชากรสังคมชราภาพของไทยนั้นเป็นปัญหาทั้งในเชิงโครงสร้างในทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งปัญหาทางการเมืองและความมั่นคงในระยะยาวอีกด้วย การเสนอสวัสดิการถ้วนหน้าผู้สูงวัยเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของการแก้ปัญหาโครงสร้างประชากรของไทยที่จะนำไปสู่ปัญหาวิกฤติฐานะทางการคลังและหนี้สาธารณะได้ในอนาคต

นอกจากนี้ ในช่วงใกล้เลือกตั้งรัฐบาลได้เร่งออกนโยบายประชานิยมที่ขาดการไตร่ตรองอย่างรอบคอบถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลทาง การคลังโดยให้น้ำหนักกับการตอบสนองต่อฐานสนับสนุนทางการเมืองเพื่อการเอาชนะในการแข่งขันทางการเมืองและมีการขยายบทบาทภาครัฐทางเศรษฐกิจด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าความสมเหตุสมผลของกรอบการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดีพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่ต้องแข่งขันกันในการเลือกตั้งต่างแนวทางและพฤติกรรมไม่ต่างกันมากนัก ปัญหานโยบายประชานิยมที่ขาดความรับผิดชอบทางการคลังจะนำมาสู่ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะภายใน 3-4 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน

ขณะนี้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุระดับ 60% ไปแล้ว สังคมไทยจึงไม่อาจคาดหวังว่าจะมีนโยบายแนวปฏิรูปที่ออกมาแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวได้มากนัก หากรัฐบาลและพรรคการเมืองไม่สามารถหารายได้จากการปฏิรูปภาษีและรายได้ภาครัฐอื่นๆมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆในระบบงบประมาณตามที่ประกาศเอาไว้ จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุ 70%ได้ในอนาคตอันใกล้ และต้องปรับเพดานหนี้กันอีกหนี้สาธารณะในระดับดังกล่าวจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าในระยะยาวเกิดข้อจำกัดของภาครัฐในการดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ สวัสดิการสังคม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์และลงทุนทางด้านการศึกษาวิจัยนวัตกรรมในอนาคต

งบประมาณปี 2566 ต้องใช้งบดูแลผู้สูงอายุประมาณ 7.5 แสนล้านบาท หรือ 4.5-5%ของจีดีพี เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวเทียบกับปี 2556 คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2576 สังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับเต็มที่จะใช้งบทะลุ 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลอาจจะเจอวิกฤติฐานะการคลังได้ แต่ไม่ควรใช้วิธีตัดลดสวัสดิการในอนาคต ควรลดภาระการคลังด้วย การสร้างระบบออมเพื่อชราภาพให้เข้มแข็ง ปฏิรูประบบแรงงานให้มีระบบค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้

ล่าสุด ผู้สูงอายุในสังคมมีอยู่ประมาณ 12.5-12.6 ล้านคน หรือ คิดเป็น 19-20% ของประชากรทั้งหมด ไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ มีจำนวนผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2565 และคาดว่า จะเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) กล่าวคือ มีจำนวนผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 28% ของประชากรทั้งประเทศ ในปี 2576 นโยบายสาธารณะของไทยควรพิจารณาเปิดเสรีตลาดแรงงานเพิ่มเติมหรือไม่ หรือ รับผู้อพยพที่มีคุณภาพ ผ่านกระบวนการแปลงสัญชาติอย่างรอบคอบรัดกุมหรือไม่

ต้องไปศึกษาวิจัยให้รอบคอบและต้องตัดสินใจเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาไว้ล่วงหน้าในหลายจังหวัดของไทย เช่น สิงห์บุรี ลำปาง ลำพูน แพร่ ใกล้เข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (Super-aged Society) คือ มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% และ มีประชากรสูงอายุมากกว่า 30% ประชากรในวัยทำงานลดลงอย่างมาก ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงวัยจำนวนมาก ทำให้เศรษฐกิจในจังหวัดไม่สามารถขับเคลื่อนได้ เกิดปัญหาสังคมเพิ่มขึ้นลำพูนอาจดีกว่าจังหวัดอื่นที่กล่าวมาเพราะมีนิคมอุตสาหกรรม มีการอัตราการมีงานทำสูง จังหวัดสิงห์บุรี ลำปาง ลำพูน แพร่ เป็นจังหวัดที่มีผู้สูงอายุ (เกิน 60 ปี) ประมาณ 25% ของประชากรขึ้นไป จังหวัดเหล่านี้ควรได้รับเงินงบประมาณจากส่วนกลางเพิ่มเติมเพื่อดูแลผู้สูงวัยโดยเร่งด่วนเพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจัดเก็บรายได้ไม่เพียงพอ

นายอนุสรณ์ กล่าวเสนอแนะต่อรัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆ ว่า ควรไปศึกษาดูงบประมาณเพื่อนำมาจัดสวัสดิการนั้นสามารถนำมาจากการเก็บภาษีทรัพย์สินเพิ่มเติมได้หรือไม่ การลดการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และการตัดลดงบประมาณบางอย่างที่ไม่จำเป็นลงโครงสร้างระบบการจัดเก็บภาษี (Taxation) ของประเทศรัฐสวัสดิการ จะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้ามีสัดส่วนรายรับรวมทางภาษีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี (GDP) เฉลี่ยอยู่ที่ 35 ? 48% ส่วนโครงสร้างระบบภาษีของไทยขึ้นอยู่กับภาษีทางอ้อมและภาษีเงินได้เป็นหลักสัดส่วนรายได้จากภาษีเทียบจีดีพีคิดเป็น 14.6% เท่านั้น (ต่ำค่าเฉลี่ยของโลกที่ 14.9%) ระบบภาษีเมื่อเทียบประเทศสแกนดิเนเวียแล้วถือว่ามีอัตราก้าวหน้าน้อยมาก

รัฐบาลต้องตั้งเป้าขยายฐานภาษีใหม่เพื่อนำมาพัฒนาประเทศและสร้างระบบรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2576 โดยควรตั้งเป้าเก็บภาษีทรัพย์สิน (ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ภาษีมรดก ภาษีลาภลอย ภาษีกำไรจากตลาดการเงิน ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กล่าวมาเชื่อว่าประเทศไทยจะประสบปัญหาฐานะทางการคลังจนเกิดภาวะแรงกดดันทางนโยบายที่ต้องปรับลดสวัสดิการบางอย่างลงซึ่งพรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ทำ

เมื่อปัญหาพัฒนามาถึงจุดดังกล่าวประเทศไทยจะสูญเสียความน่าเชื่อถือในตลาดการเงินโลกและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและอาจประสบปัญหาหนี้สาธารณะเฉกเช่นเดียวกับ ประเทศกรีซ และ ประเทศอาร์เจนตินา ได้ หากเกิดภาวะดังกล่าว ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงอย่างมาก ตราสารหนี้ของไทยและพันธบัตรรัฐบาลจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือและต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงมาก

อย่างไรก็ตาม ภาวะดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นเลย เพียงแค่รัฐบาลหลังเลือกตั้งจะใส่ใจต่อวินัยการเงินการคลัง เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและฐานะการเงินการคลังของประเทศโดยภาพรวมยังเข้มแข็งกว่าประเทศที่เคยเกิดวิกฤติหนี้สินรุนแรง พลวัตต่างๆทั้งภายในและภายนอกอาจเปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐานและฐานะการเงินการคลังให้อ่อนแอลงได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้น รัฐบาล และ พรรคการเมืองต่างๆที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งต้องตั้งอยู่บนความไม่ประมาทและระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปยุทธศาสตร์ที่ดี

อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า การระบุแหล่งรายได้อย่างชัดเจนเพื่อสนับสนุนโครงการหรืองบประมาณการใช้จ่ายเป็นส่วนหนึ่งของวินัยทางการเงินการคลัง ขณะเดียวกัน รัฐบาลและพรรคการเมืองต่างๆที่จะเป็นรัฐบาลในอนาคตควรทบทวนลดขนาดหรือยกเลิกกองทุนต่างๆที่ได้รับการสนับสนุนจากภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) หลายประเทศได้ยกเลิกระบบ Earmarked Tax เพราะการเก็บภาษีเพื่อสนับสนุนกิจกรรมบางอย่างเป็นการเฉพาะนั้นเป็นข้อยกเว้นหลักการพื้นฐานสำคัญทางงบประมาณ ได้แก่ หลักเอกภาพทางงบประมาณและหลักรายได้ต้องมีลักษณะทั่วไป การจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะมักถูกโต้แย้งถึงความโปร่งใสและขัดแย้งกับวินัยการคลังอยู่เสมอ

และการจัดสรรเงินให้แก่หน่วยงานเหล่านี้มิได้ผ่านกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในแต่ละปีวงจรงบประมาณแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ ขั้นแรก การจัดเตรียมงบประมาณ ขั้นที่สอง การออกพระราชบัญญัติ ขั้นที่สาม การเบิกจ่ายและบริหารงบประมาณ ขั้นที่สี่ ขั้นตอนการตรวจสอบบทบาทของรัฐสภาในกระบวนการงบประมาณมีหน้าที่ในการอนุมัติวงเงินงบประมาณ (Budget Approval)และ การติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน (Budget Audit)รัฐสภาไทยไม่ได้มีบทบาทในขั้นจัดเตรียมงบประมาณเหมือนบางประเทศ การจัดเตรียมมักเป็นหน้าที่ของฝ่ายข้าราชการประจำและรัฐบาลทั้งที่การจัดเตรียมงบประมาณควรมีบทบาทผู้แทนประชาชนเพิ่มขึ้น บทบาทนี้ควรครอบคลุมความเหมาะสมของการกำหนดวงเงินงบประมาณแผ่นดินซึ่งอาจจะมีการทำงบประมาณสมดุล (Balanced Budget) งบประมาณเกินดุล (Surplus Budget)งบประมาณขาดดุล (Deficit Budget) นโยบายและการบริหารหนี้สาธารณะ (Public Debt Policy and Management)

ปัญหาความด้อยประสิทธิภาพของการบริหารจัดการงบประมาณเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น ความด้อยความสามารถของระบบราชการ (Incompetency of Bureaucratic Agency) ความผิดผลาดของการลงทุนภาครัฐเกิดจากอคติที่ต้องการให้ภาครัฐทำโครงการ โดยการคำนวณอัตราผลตอบแทน (Internal Rate of Returns, IRR) ที่สูงเกินจริง อคติของการจัดทำงบประมาณของพรรคการเมืองแบบประชานิยมเพราะพรรคการเมืองต่างมีความประสงค์จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งซึ่งใช้เกณฑ์การตัดสินแบบเสียงส่วนใหญ่ (Majority Voting) และมักจะจัดสรรงบประมาณเอาใจคนกลุ่มใหญ่ โดยสำนักเศรษฐศาสตร์การเมือง เรียกแบบจำลองนี้ว่า Median Voter Model นอกจากนี้ อาจมีการล็อบบี้จากกลุ่มทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆเพื่อแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Economic Rent)

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า เมื่อรัฐหรือรัฐบาลเข้าไปแทรกแซงความล้มเหลวของระบบตลาดเพื่อกำหนดเพดานดอกเบี้ย กำหนดวงเงินสินเชื่อในกิจการบางอย่าง ลดผลกระทบจากพลังงานแพงด้วยการอุดหนุนราคาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือ จัดการปัญหามลพิษจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การดูแลให้เกิดรายได้ที่เป็นธรรมหรือลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกลไกของรัฐเองก็มีข้อจำกัดและอาจเกิดความล้มเหลวได้เช่นเดียวกัน ความล้มเหลวหรือปัญหาประสิทธิภาพของภาครัฐอาจเกิดจาก ข้อจำกัดด้านข้อมูล ข้อจำกัดของระบบราชการ ข้อจำกัดของกระบวนการทางการเมือง ปัญหาการไม่มีแรงกดดันด้านการแข่งขัน (ทำให้เกิดปัญหาไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ปรับปรุงคุณภาพ เป็นต้น)

นอกจากนี้ยังเกิดกรณีที่นโยบายหรือมาตรการที่ดีไม่สามารถผลักดันให้เกิดเป็นจริงได้ เพราะนักการเมืองต้องคำนึงถึงคะแนนนิยมเฉพาะหน้าหรือในยุคปัจจุบันแม้นผู้นำการเมืองที่มาจากอำนาจรัฐประหารก็ยังต้องหาเสียงและอาศัยการสนับสนุนจากมวลชน มาตรการหรือนโยบายจึงมุ่งแก้ปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้าเพื่อหาคะแนนนิยมมากกว่าแก้ปัญหาระยะยาว การผลักดันนโยบายหลายกรณีได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งกับกลุ่มผลประโยชน์ที่สนับสนุนพรรคการเมือง นโยบายหรือมาตรการบางอย่างที่เข้าไปจัดการกับโครงสร้างตลาดผูกขาดกระทบต่อฐานทางการเมืองจึงไม่เกิดขึ้น แม้นจะเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาความล้มเหลวของระบบตลาดและเกิดผลดีระยะยาวต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมได้ก็ตาม

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า กรณีของไทยงบประมาณรายจ่ายในหลายทศวรรษที่ผ่านมาของรัฐบาลไทยก็ไม่ค่อยมีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจมากนัก เพราะงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลไทยประกอบด้วยรายจ่ายที่สำคัญที่ไม่สามารถปรับลดตามภาวะเศรษฐ กิจได้ จากรายงานวิจัยของ ดร. เมธี ครองแก้ว พบว่า งบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลไทย นอกจากไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้แล้ว ยังส่งผลทำให้การกระจายรายได้ในสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่า หลังปี พ.ศ. 2544 หลังจากมีนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคและต่อมาพัฒนาเป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งการมีนโยบายสวัสดิการสังคมอื่นๆเพิ่มเติมและนโยบายเรียนฟรี เบี้ยยังชีพ สวัสดิการเพิ่มเติมจากระบบประกันสังคม ทำให้งบประมาณรายจ่ายเป็นกลไกในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในระยะต่อมา ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในระยะแรกของการฟื้นตัวและเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง การดำเนินนโยบายทางการคลังต้องรักษาสมดุลระหว่าง การคลังแบบอัตโนมัติ (Non-discretionary Fiscal Policy) กับ การคลังแบบตั้งใจ (Discretionary Fiscal Policy) เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการฟื้นตัวระยะแรกของเศรษฐกิจไทยและสถานการณ์เลือกตั้ง

นายอนุสรณ์ ได้อธิบายประเด็นดังกล่าวในรายละเอียดว่า นโยบายการคลังแบบตั้งใจ (Discretionary Fiscal Policy) ได้แก่ การปรับเปลี่ยนการใช้จ่ายและ/หรือภาษีของรัฐบาลที่มีผลใช้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง โดยรัฐบาลตั้งใจที่จะให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลคาดหวังหรือตั้งใจไว้ การปรับวงเงินงบประมาณรายจ่ายหรือภาษีดังกล่าวต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายกล่าวคือต้องผ่านการ พิจารณาเห็นชอบโดยมติของคณะรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม การใช้นโยบายการคลังแบบตั้งใจมักมีปัญหาในเรื่องความล่าช้าของเวลา (Time Lags) กล่าวคือก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจใช้นโยบายการคลัง รัฐบาลต้องมีข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลก่อนตัดสินใจใช้ ดังนั้นปัญหาประการแรกที่รัฐบาลมักเจอได้แก่การจัดเก็บสถิติข้อมูลและวิเคราะห์ได้ล่าช้า

ประการที่สองการใช้นโยบายมีขั้นตอนที่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายซึ่งต้องใช้เวลาและประการสุดท้ายได้แก่การใช้นโยบายหรือนำไปปฏิบัติก็มักจะมีความล่าช้าในกระบวนการ อาทิ การอนุมัติงบประมาณรายจ่ายในการสร้างถนน ก่อนจะลงมือสร้างก็ต้องมีการศึกษาความเหมาะสม การเลือกผู้รับจ้างหรือผู้ดำเนินการ และอื่นๆ เป็นต้น

ส่วน นโยบายการคลังแบบไม่ตั้งใจ (Non-Discretionary Fiscal Policy) ได้แก่การเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายของรัฐบาลและ/หรือภาษีซึ่งเป็นไปเองตามโครงสร้างของระบบการใช้จ่าย หรือการเก็บภาษีที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรก หรือที่เรียกว่า การคลังอัตโนมัติหรือการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยอัตโนมัติ (Autonomous Fiscal Policy or Built-in Stabilizers) เครื่องมือของการคลังอัตโนมัติได้แก่ รายจ่ายเงินโอน (Transfer Payments) บางประเภทที่เป็นไปตามเงื่อนไขหรือกฎหมายกำหนดหรือบังคับไว้ เช่น เงินประกันการว่างงานตามกฎหมายประกันการว่างงาน ซึ่งรัฐบาลจะมีรายจ่ายดังกล่าวจะมากขึ้นก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำหรือมีคนว่างงานมาก และรายจ่ายจะน้อยลงในภาวะที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตและมีปัญหาการว่างงานต่ำ

นายอนุสรณ์ กล่าวสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรควรมีบทบาทเพิ่มขึ้นในกระบวนการงบประมาณ โดยเฉพาะด้านการจัดเตรียมรัฐธรรมนูญปี 60 นั้นได้ลดบทบาทผู้แทนประชาชนในการจัดการงบประมาณด้วยทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารการคลัง อันรวมถึงการบริหารงบประมาณโดยเฉพาะงบกลาง งบลับ งบจัดซื้ออาวุธ เงินนอกงบประมาณ งบสวัสดิการสังคม การบริหารภาษีและรายได้อื่นๆ การบริหารหนี้สาธารณะ จะทำให้ไทยสูญเสียโอกาสในการก้าวสู่"รัฐสวัสดิการ" ภายใน 10-15 ปีข้างหน้า

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า หนทางสู่รัฐสวัสดิการในอีก 10-15 ข้างหน้าสามารถทยอยทำได้เลยด้วยการจัดสวัสดิการเพิ่มเติม เช่นบำนาญถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงวัย 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ขณะนี้ผู้สูงอายุที่เป็นแรงงานนอกระบบได้เฉพาะเบี้ยยังชีพ หากจ่ายบำนาญถ้วนหน้าใช้เงินงบประมาณ 450,000 ล้านบาทซึ่งฐานะงบประมาณไทยพอจัดสรรได้ สวัสดิการสำหรับเด็กเล็กถ้วนหน้า 1,500 บาท เริ่มต้นแบบนี้และค่อยๆต่อยอดพัฒนาเพิ่มสวัสดิการพื้นฐานอื่นๆในระยะต่อไป การดูแลสุขภาพ การตั้งครรภ์ ความพิการและการเสียชีวิต สวัสดิการสำหรับเด็กเล็ก / ผลประโยชน์สำหรับผู้พิการสวัสดิการการศึกษา สวัสดิการสำหรับครอบครัว สวัสดิการการว่างงาน / หลักประกันรายได้ขั้นต่ำ สวัสดิการสำหรับผลประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัย บำนาญ เบี้ยยังชีพ การประกันสำหรับผู้สูงวัย สวัสดิการทดแทนเงินได้จากสภาวะพิการจากการทำงาน สวัสดิการเพื่อสันติธรรมและความสมานฉันท์ในสังคม ผลประโยชน์ทางสวัสดิการสำหรับประชาชนยังไม่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม มีประชาชนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐาน แม้นสิทธิเสรีภาพพื้นฐาน สิทธิมนุษยชน การได้รับความเป็นธรรมจากระบบกฎหมายและระบบความยุติธรรม ก็ยังมีปัญหาสำหรับคนไทยบางกลุ่ม

อย่างไรก็ตามการทยอยก้าวสู่รัฐสวัสดิการของไทยต้องมีการปฏิรูประบบสวัสดิการเพื่อความยั่งยืนทางการเงินของระบบด้วย และ ลด ละ เลิกนโยบายแจกเงินเป็นครั้งคราวเฉพาะหน้า ยกเลิกและทบทวนนโยบายประชานิยมแบบไม่ยึดถือวินัยการคลังโดยนำเอาการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบแบบรัฐสวัสดิการเข้ามาแทนที่รวมทั้งระบบร่วมสมทบเข้ามาแทนที่งบประมาณที่จัดสรรไปสู่รายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมของไทยยังอยู่ในระดับต่ำมาก ในปี พ.ศ. 2546 สวีเดนมีรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพี มากกว่าประเทศไทยในปีเดียวกันถึง 15-16 เท่า ส่วนไทยนั้นมีรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมต่อจีพีดีเฉลี่ยอยู่ที่ 4.8% เท่านั้น ประเทศสแกนดินีเวียจะมีรายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพีสูงที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ 29-30% ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีรายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมต่อจีดีพีไม่สูงมากอยู่ที่ 15-16%

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนเงินงบประมาณเพื่อนำมาจัดสวัสดิการนั้นสามารถนำมาจากการเก็บภาษีทรัพย์สินเพิ่มเติม การลดการจัดซื้ออาวุธยุทโธปการณ์และการตัดลดงบประมาณบางอย่างที่ไม่จำเป็นลง โครงสร้างระบบการจัดเก็บภาษี (Taxation) ของประเทศรัฐสวัสดิการ จะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า มีสัดส่วนรายรับรวมทางภาษีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี (GDP) เฉลี่ยอยู่ที่ 35 ? 48%

ส่วนโครงสร้างระบบภาษีของไทยขึ้นอยู่กับภาษีทางอ้อมและภาษีเงินได้เป็นหลัก สัดส่วนรายได้จากภาษีเทียบจีดีพีคิดเป็น 14.6% เท่านั้น (ต่ำค่าเฉลี่ยของโลกที่ 14.9%) ระบบภาษีเมื่อเทียบประเทศสแกนดิเนเวียแล้วถือว่ามีอัตราก้าวหน้าน้อยมาก รัฐบาลต้องตั้งเป้าขยายฐานภาษีใหม่เพื่อนำมาพัฒนาประเทศและสร้างระบบรัฐสวัสดิการให้เกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2576 โดยควรตั้งเป้าเก็บภาษีทรัพย์สิน (ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ภาษีมรดก ภาษีลาภลอย ภาษีคริปโต ภาษีธุรกรรมออนไลน์ ภาษีกำไรจากตลาดการเงิน ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านบาท หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กล่าวมา เชื่อว่าประเทศไทยจะประสบปัญหาฐานะทางการคลังอย่างรุนแรงจนเกิดภาวะแรงกดดันทางนโยบายที่ต้องปรับลดสวัสดิการบางอย่างลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ