วงเสวนา มองส่งออกไทยปี 66 อ่อนแรงท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง แต่ยังเห็นโอกาส

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 24, 2022 14:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ "ส่องส่งออก 2566 ทรง หรือ ทรุด" โดยมองว่า ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกในปีนี้ ที่อาจยังดำเนินต่อเนื่องไปในปี 66 ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ, ปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ ค่าเงิน นโยบายการเงิน, ปัญหาทางสังคม เช่น การระบาดของโควิด-19, ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหากฎระเบียบ-มาตรการกีดกันทางการค้านั้น แต่ สรท. ประเมินว่าการส่งออกของไทยยังมีโอกาสขยายตัวได้ 2-3% ที่มูลค่าประมาณ 3.03 - 3.04 แสนล้านดอลลาร์ โดยสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมอาหารจะเป็นพระเอกหลัก และเชื่อว่าการส่งออกจะยังเป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีหน้า

พร้อมมองว่า ปัจจัยภายนอกที่มีความผันผวน ควบคุมได้ยาก และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้ผู้ส่งออกจะต้องวางกลยุทธ์ในรูปแบบใหม่ เพราะการทำงานในรูปแบบเดิมจะไม่สามารถตอบโจทย์ได้ การจำหน่ายสินค้าต้องปรับรูปแบบจาก Offline มาเป็นแบบ Online มากขึ้น รวมทั้งการทำ Online Business Matching ด้วย ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน ถือว่ายังประเมินได้ยากว่าจะไปในทิศทางใด ผู้ประกอบการจึงควรต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน

นอกจากนี้ แนวโน้มการส่งออกไปยังตลาดหลักที่อาจชะลอตัว ผู้ส่งออกจึงควรต้องเร่งหาตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ ตะวันออกกลาง รวมทั้งขยายตลาดในอาเซียน ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) รวมถึงตลาดจีน เพราะหากจีนปลดล็อกการเดินทางท่องเที่ยว จะยิ่งทำให้ความต้องการการบริโภคเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย

"ปัจจัยภายนอกทุกตัว ยังถือเป็นความเสี่ยงในระดับปานกลาง-สูง ดังนั้นอย่านิ่งนอนใจ แม้เราจะรอดจากโควิดไปแล้ว แต่ยังอาจต้องเจอกับมรสุมเศรษฐกิจในปีหน้า...ส่งออกปีหน้ายังโตได้ แต่อาจโตในอัตราหน่วง เหมือนวิ่งมาราธอน อาจจะเหนื่อย แต่เราวิ่งจากแรงที่สะสมไว้ หยุดไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รางวัล ซึ่งแม้จะมีลมต้าน แต่ยังมีโอกาส ใครก็ตามที่กินบุญเก่า ต้องเปลี่ยนได้แล้ว สินค้าต้องมีนวัตกรรมมากขึ้น ยึดโยงตลาดเดิมไว้ และต้องเร่งพัฒนาตลาดใหม่ พัฒนามูลค่าสินค้า ซึ่งอาจจะทำให้ส่งออกโตมากกว่า 2-3% ได้" ประธาน สรท.กล่าว

ส่วนการส่งออกในปีนี้ สรท. เชื่อว่าจะขยายตัวได้ 7-8% อย่างแน่นอน ที่มูลค่าประมาณ 2.90 - 2.93 แสนล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพการเติบโตในระดับ 6-10% ได้แก่ น้ำตาลทราย, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม, น้ำมันสำเร็จรูป, ยางล้อรถยนต์, อัญมณีและเครื่องประดับ, ข้าว และมันสำปะหลัง เป็นต้น ขณะที่ประเมินว่าการส่งออกช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ อาจจะแตะเบรคจากไตรมาส 3 โดยคาดว่าจะหดตัว -3.4%

"เมื่อธ.ค. ปีก่อน เราส่งออกรถยนต์ได้มาก เพราะชิปมาทันเวลา แต่ถึงแม้ปีนี้ชิปจะมาทันเวลา แต่สินค้าหลายตัว เริ่มชะลอตัว เช่น ปิโตรเคมี พลาสติก สิ่งทอ เริ่มแตะเบรค จึงทำให้การส่งออกไตรมาส 4 ปีนี้อาจติดลบ แต่ทั้งปีเชื่อว่ายังโตได้ตามคาดการณ์ที่ 7-8%" นายชัยชาญ กล่าว

ด้านนายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า จากประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่าเศรษฐกิจโลกปี 66 จะเติบโตได้เพียง 2.7% ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่อ่อนแอสุดในรอบ 21 ปีนั้น การที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ก็ไม่ได้หมายความว่าไทยจะส่งออกไม่ได้ เพียงแต่ต้องนำมาเป็นปัจจัยที่พึงระวัง ขณะที่ยังมีภูมิภาคที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวได้โดดเด่น เช่น ตลาดเกิดใหม่ ตลาดเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง

โดยเศรษฐกิจไทยปี 66 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ โดยในด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มที่สดใสขึ้นมาก จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเดินทางเข้าไทยมากกว่า 20 ล้านคน ในขณะที่การบริโภค และกำลังซื้อของประชาชนในประเทศจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อการจ้างงานภาคบริการ รายได้ภาคเกษตร และค่าแรงขึ้นต่ำให้ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนเงินเฟ้อจะไม่สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจมากเท่าปีนี้ เพราะอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอตัวลง ในขณะที่การส่งออกอาจจะชะลอตัวลง โดยมีการเติบโตเป็นเลขหลักเดียว (Single Digit)

ทั้งนี้ EXIM BANK ประเมินว่า การส่งออกในปีหน้าจะขยายตัวได้ราว 2% ซึ่งชะลอตัวลงจากในปี 65 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 8% ซึ่งการส่งออกไทยในปี 66 ที่อ่อนแรงลง เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น สหรัฐ ยุโรป และจีน ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่ยังมีความเปราะบางจากปัญหาหนี้สูง เช่น บางประเทศในลาตินอเมริกา และแอฟริกา นอกจากนี้ผู้บริโภคและนักลงทุน ยังกังวลาภาวะเศรษฐกิจถดถอย และปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมทั้งเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะสั้น

"ปีหน้าลมต้านยังเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในฝั่งดีมานด์ แต่มีสัญญาณดีจากค่าระวางเรือ และปัญหา Supply disruption การส่งมอบเซมิคอนดักเตอร์ที่ดีขึ้น...ปีหน้าคงไม่ได้เห็นการส่งออกที่ขยายตัวสูงมากเมื่อเทียบกับปี 65 ดังนั้นการที่เราจะเลือกตลาดที่จะไป หรือผลิตภัณฑ์ที่จะไป ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยง จึงมีความสำคัญมาก" นายเบญจรงค์ ระบุ

น.ส.ณัฐิยา สุจินดา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของหลายหน่วยงาน ที่มองว่าเศรษฐกิจโลกปี 66 จะชะลอตัวลง รวมทั้งมีปัญหาความผันผวนจากตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์นั้น เชื่อว่าในวิกฤติดังกล่าวก็ยังพอมองเห็นโอกาส

การรู้เท่าทันคู่แข่งในการขยายตลาดส่งออกนั้น มองว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกไม่ดี ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าที่ราคาไม่แพง แต่ต้องมีคุณภาพดี ได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์ของประเทศที่นำเข้า รวมทั้งการควบคุมต้นทุนการผลิต และต้นทุนทั้งระบบ Supply Chain จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยตลาดส่งออกที่กรมฯ มองว่ายังมีศักยภาพดีในปี 66 ประกอบด้วย 5 ตลาดหลักที่สำคัญ คือ อินเดีย, ตะวันออกกลาง, สหรัฐอเมริกา, อาเซียน และจีน-ฮ่องกง

โดยตลาดอินเดีย ผู้ประกอบการจะต้องสร้างการรับรู้สินค้าใหม่ๆ หรือสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค พัฒนาสินค้าที่สนองต่อกฎระเบียนของอินเดีย เช่น สินค้าไบโอพลาสติก และทำให้ต้นทุนสามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ อาจพิจารณาเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าในอินเดีย เพื่อให้สามารถแข่งขันทางด้านราคาได้ดีกว่า

ตลาดสหรัฐอเมริกา ผู้ส่งออกรายกลาง/รายย่อย อาจจะรับจ้างผลิต หรือสร้างพันธมิตรกับผู้นำเข้าที่ส่งสินค้าค้าให้กับห้างค้าส่ง-ค้าปลีก, จำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Amazon, Wayfair, Wheel, Asia Oriental เป็นต้น, การส่งเสริม Soft Power ในสินค้าไทยผ่านสถาบันสอนทำอาหาร เว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มต่างๆ นอกจากนี้ ต้องขยายตลาดไปที่เป็นเมืองรองมากขึ้น เช่น เวอร์จิเนีย, แมรี่แลนด์ และเท็กซัส เป็นต้น

ตลาดอาเซียน ผู้ส่งออกจะต้องสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า เพิ่มการค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มีการจัด Mini Thailand Week หรือส่งเสริมการขายในห้างสรรพสินค้าในเมืองรอง, การให้ความสำคัญการค้าชายแดน

ตลาดจีน โดยการสร้างความสัมพันธ์แบบเจาะจง หรือทำข้อตกลงพิเศษเป็นรายมณฑล เช่น Mini FTA เข้าร่วมงานแสดงสินค้าของมณฑล, การใช้ e-Commerce เป็นแพลตฟอร์มในการขายสินค้าและส่งเสริมการขาย เช่น TMall Global, JD, Lotus, Herma และ Taobao เป็นต้น การใช้ Influencer และการใช้ Key Opening Leader (KOL) ของจีน เพื่อช่วยในการโปรโมทสินค้า และเพิ่มยอดขาย เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ