INTERVIEW: กยศ.แก้ทุกข้อจำกัด "จ่ายง่ายได้ทุกวัน" ปันโอกาสรุ่นสู่รุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 10, 2023 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ร่างแก้ไข พ.ร.บ. กยศ. ที่ได้ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.65 มีสาระสำคัญ คือ กองทุนฯ จะคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 1% ต่อปี อัตราเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระไม่เกิน 0.5% ต่อปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี และช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี หรืออยู่ระหว่างการบังคับคดีให้สามารถผ่อนผันการชำระเงินคืน ปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้ใหม่ หรือระงับการชำระเงินคืนตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด

ทั้งนี้ ระยะเวลาการผ่อนชำระจะคำนึงถึงรายได้และความสามารถในการชำระเงินคืนของผู้กู้ยืม แต่ต้องไม่เกิน 15 ปีหลังจากปลอดหนี้ 2 ปี โดยผู้กู้ยืมสามารถผ่อนชำระเงินคืนเป็นงวดรายเดือน, รายไตรมาส หรือรายปีได้ กรณีที่ผู้กู้ยืมมีหนี้ค้างชำระให้ทำการตัดชำระหนี้จากเงินต้นก่อน จากนั้นจึงเป็นดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ รวมถึงอาจมีมาตรการจูงใจหรือลดหย่อนเงินต้น เพื่อให้ผู้กู้ยืมเงินไม่ผิดนัดชำระเงินคืนได้ ซึ่งกฎหมายใหม่ดังกล่าว จะสามารถช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ถูกดำเนินคดีแล้ว จะสามารถแปลงหนี้ใหม่ เพื่อให้กลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ

ผู้จัดการ กยศ. ระบุว่า ในช่วงที่ร่างแก้ไข พ.ร.บ.กยศ. ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ นั้น ทำให้ยังมีความไม่ชัดเจนว่าในอนาคต กยศ.จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเบี้ยปรับอย่างไร ทำให้ในช่วงแรกที่ ส.ส.ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กยศ.ที่ให้ยกเลิกการคิดดอกเบี้ยกู้ยืม และยกเลิกเบี้ยปรับนั้น ได้ส่งผลให้เกิดการชะลอการชำระคืนเงินกู้จากลูกหนี้ กยศ. โดยยอดการชำระหนี้แบบสมัครใจ ลดลงไปราว 26-30% ในขณะที่ยอดการชำระหนี้แบบหักบัญชีเงินเดือน ยังเป็นไปตามปกติ

"หลังจากมีข่าวเรื่อง พ.ร.บ.กยศ. ที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องดอกเบี้ย ทำให้อัตราการชำระหนี้ก็ลดลง ในส่วนของผู้ที่สมัครใจชำระหนี้ลดลง 29% แต่กลุ่มที่หักเงินเดือน ยังเป็นไปตามปกติ ไม่ได้ลดลง" ผู้จัดการ กยศ.กล่าว

ทั้งนี้ ในแต่ละปี กยศ.รับชำระคืนเงินกู้ปีละประมาณ 28,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการชำระในรอบใหญ่ คือ เดือน ก.ค.ของทุกปี โดยในปี 2565 กยศ.ได้ให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียนนักศึกษาไปประมาณ 4 หมื่นล้านบาท จากจำนวนผู้กู้ยืมราว 6.4 แสนคน

ที่ผ่านมา กยศ. ให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียน นักศึกษาไปแล้ว 6.41 ล้านคน คิดเป็นเงินกู้กว่า 7.06 แสนล้านบาท โดยในจำนวน 6.41 ล้านคนนี้ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

1. ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1.68 ล้านคน คิดเป็น 26% เป็นเงิน 130,440 ล้านบาท

2. อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1.11 ล้านคน คิดเป็น 17% เป็นเงิน 118,540 ล้านบาท

3. อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3.54 ล้านคน คิดเป็น 56% เป็นเงิน 451,270 ล้านบาท

4. เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 6.9 หมื่นคน คิดเป็น 1% เป็นเงิน 6,107 ล้านบาท

สำหรับผู้ที่ไม่ชำระคืนหนี้ กยศ.นั้น มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการผิดนัดชำระหนี้ออกมาเป็น 3 เหตุผล กล่าวคือ เหตุผลแรก เป็นกลุ่มที่มีความยากจนจริงๆ โดยเมื่อเรียนจบแล้ว ก็ยังไม่สามารถก้าวข้ามความยากจนไปได้ จึงทำให้ไม่มีเงินมาชำระคืนหนี้ กยศ.

เหตุผลที่สอง เป็นกลุ่มที่ขาดวินัยทางการเงิน โดยกลุ่มนี้เมื่อเรียนจบแล้ว มีงานทำ มีรายได้ แต่ไม่ยอมชำระหนี้คืน กลับเอาเงินไปใช้จ่าย หรือผ่อนซื้อสิ่งของต่างๆ เมื่อครบกำหนดชำระหนี้ ก็จะเลือกชำระเงินในส่วนที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าก่อน และเลือกที่จะชำระหนี้คืนให้ กยศ.เป็นลำดับท้ายๆ เพราะดอกเบี้ยต่ำ

และเหตุผลที่สาม เป็นกลุ่มที่ขาดจิตสำนึกอย่างแท้จริง โดยมีความสามารถที่จะชำระเงินได้ แต่ตั้งใจที่จะไม่ชำระ ซึ่ง กยศ.มีข้อมูลจากการสืบทรัพย์พบว่าลูกหนี้บางคนมีเงินในบัญชีธนาคารเป็นหลักแสนถึงหลักล้านบาท

ข้อมูลในปี 2563 ซึ่ง กยศ.ได้สืบทรัพย์บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลที่ให้ผู้กู้ชำระคืนหนี้แก่กองทุน กยศ.นั้น กยศ. ได้ส่งรายชื่อลูกหนี้ดังกล่าวกว่า 1.15 แสนคน ไปให้ธนาคาร 6 แห่ง เพื่อตรวจสอบทรัพย์สิน และเงินในบัญชีธนาคาร ซึ่งมีการตรวจพบว่า

  • ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ มีเงินในบัญชีไม่เกิน 50,000 บาท มีจำนวน 106,761 คน
  • ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ มีเงินในบัญชีเกินกว่า 50,000 บาท แต่ไม่ถึง 1 แสนบาท มีจำนวน 3,855 คน
  • ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ มีเงินในบัญชีเกินกว่า 1 แสนบาท แต่ไม่ถึง 1 ล้านบาท มีจำนวน 4,898 คน
  • ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ มีเงินในบัญชีเกินกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท มีจำนวน 460 คน
  • ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ มีเงินในบัญชีเกินกว่า 10 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 20 ล้านบาท มีจำนวน 8 คน
  • ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ มีเงินในบัญชีเกินกว่า 20 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 30 ล้านบาท มีจำนวน 2 คน
  • ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ มีเงินในบัญชีเกินกว่า 30 ล้านบาท มีจำนวน 1 คน

อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสังเกตว่าการที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้กับ กยศ. อาจไม่ใช่ความผิดจากลูกหนี้แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่าข้อตกลงการทำสัญญาอาจจะไม่เป็นธรรม หรือยากที่จะปฏิบัติได้ แต่ลูกหนี้ต้องจำใจยอมเพราะไม่มีทางเลือก เช่น การกำหนดรูปแบบการชำระหนี้ที่กำหนดให้จ่ายค่างวดเป็นรายปี และปรับอัตราจ่ายขึ้นทุกปี ซึ่งไม่ได้สนับสนุนให้ผู้กู้สามารถชำระหนี้ได้ตามที่ตกลงกัน, การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ในอัตราที่สูง ซึ่งแทนจะช่วยให้ผู้กู้มีวินัยกลับกลายเป็นสร้างอุปสรรคทำให้ชำระหนี้ไม่ได้ รวมทั้งการกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ ที่ไม่ได้จูงใจให้ลูกหนี้ชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า การปรับเงื่อนไขการกู้เงิน หรือปรับรูปแบบการชำระเงินให้เหมาะสมเฉพาะกับลูกหนี้ในแต่ละคน เหมือนเช่นที่ธนาคารพาณิชย์มีการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายก่อนจะให้สินเชื่อถึงนั้น อาจทำได้ยาก เพราะ กยศ.ไม่ได้มีบุคลากรมากพอ และไม่ได้มีสาขาอยู่ทั่วประเทศเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป วัตถุประสงค์ในการปล่อยกู้ก็ต่างกัน ยิ่งจน ต้องยิ่งให้กู้ เมื่อกู้แล้ว รูปแบบการชำระหนี้ ก็จำเป็นต้องกำหนดเป็นมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งประเทศ

นอกจากนี้ ลูกหนี้ กยศ.อาจจะไม่จำเป็นต้องชำระหนี้เป็นรายปีเพียงครั้งแบบแต่ก่อน เพราะอาจทำให้ต้องจ่ายเป็นเงินก้อน โดยในปัจจุบันสามารถแบ่งจ่ายเป็นรายเดือน หรือแม้แต่รายวันก็ยังได้ ซึ่งการชำระคืนหนี้ยังสามารถทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องไปชำระที่สาขาธนาคาร เพียงแต่มีแอปฯ ของ กยศ. ก็สามารถชำระเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้เลย

"การที่ชำระหนี้รายปีเพียงครั้งเดียว (เดือนก.ค.ของทุกปี) เพื่อให้แต่ละเดือน น้องๆ สามารถนำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้ แต่พอเอาจริงๆ ก็พบว่าหลายคนไม่สามารถเก็บเงินได้ ทำให้การชำระหนี้รายปี อาจไม่สอดคล้องกับสภาวะการณ์ แต่ปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องชำระเป็นรายปีแล้ว สามารถชำระเป็นรายวัน/รายเดือนได้ สามารถชำระหนี้ กยศ.ผ่านมือถือได้เลย (แอป กยศ.) จากเดิมที่ต้องไปจ่ายที่ธนาคารและมีค่าธรรมเนียม แต่ปัจจุบันชำระผ่านมือถือ ไม่มีค่าธรรมเนียม ซึ่งจะช่วยให้น้องๆ สามารถชำระหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง" นายชัยณรงค์กล่าว

ผู้จัดการ กยศ. ได้ให้ความเห็นถึงความจำเป็นที่กองทุน กยศ.ต้องมีการเรียกเก็บดอกเบี้ยกู้ยืม และการคิดเบี้ยปรับว่า กองทุน กยศ.มีสถานะเป็นกองทุนหมุนเวียน โดยไม่ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2562 แล้ว โดยมีรายได้จากดอกเบี้ยที่ให้กู้ยืม และเบี้ยปรับ รวมปีละประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าไม่มีรายได้จากดอกเบี้ยกู้ยืม และเบี้ยปรับในส่วนนี้เลย กองทุนฯ ก็ยังอาจจะอยู่ได้ แต่รายรับของกองทุนฯ ก็จะลดลง ซึ่งถ้ากองทุนฯ มีเงินไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลกระทบสำคัญทำให้การปล่อยกู้แก่นักเรียนนักศึกษาได้จำกัดมากขึ้น หรือถ้าจะปล่อยกู้แบบไม่มีข้อจำกัด ก็อาจทำให้ กยศ.ต้องกลับไปพึ่งการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลแบบในอดีต

ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยควรจะต้องมีบ้าง เพื่อสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ส่วนเบี้ยปรับ ก็จำเป็นต้องมี เพื่อให้ผู้กู้เกิดวินัยทางการเงิน ทั้งนี้ ในทางกลับกัน ผู้กู้จะไม่ต้องจ่ายเบี้ยปรับเลย ถ้ามีวินัยทางการเงิน และชำระหนี้ตามกำหนด

ส่วนที่มีการตั้งคำถามกันว่า การศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เหตุใดนักเรียน-นักศึกษา จึงไม่ได้สิทธิในการเรียนฟรีจากรัฐบาลนั้น ในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่ารัฐต้องให้การศึกษาในระดับภาคบังคับ 12 ปีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายจนถึง ม.6 วันนี้รัฐบาลก็มีกองทุนเพื่อความเสมอภาคฯ เป็นการให้ทุนฟรีอยู่แล้ว แต่ กยศ.เป็นกองทุนหมุนเวียนให้โอกาสเพิ่มเติมสำหรับการศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ซึ่งเป็นการให้เงินทุนไปก่อนแล้วขอชำระคืนกลับมาในภายหลังเมื่อมีงานทำ และโดยสถานะของ กยศ.ยังไม่ได้มีความพร้อมถึงขั้นจะให้เรียนฟรีได้

พร้อมกันนี้ ยังขอฝากทำความเข้าใจไปถึง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก นักเรียน-นักศึกษา ที่กู้เงินจาก กยศ.ไปแล้ว ขอความร่วมมือให้ชำระหนี้คืน ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่น้องๆ ในรุ่นหลัง และกลุ่มที่สอง คือ ฝากถึงผู้ปกครองว่าการกู้เงิน กยศ. ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก สามารถยื่นกู้ตามขั้นตอนได้สะดวกและง่ายดาย ไม่ว่าจะมาที่สำนักงาน กยศ. หรือยื่นกู้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือก็สามารถทำได้แล้ว

"เรายืนหยัดที่จะเป็นหลักประกันว่า เด็กทุกคนที่เกิดมา จะสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทุกคน เพราะความยากจนไม่ใช่อุปสรรคของการศึกษา" นายชัยณรงค์ ระบุ

https://youtu.be/_fJ0Jp_0SYc


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ