กอบศักดิ์ มอง 3 โอกาสรอไทยก้าวสู่ Hub ภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 25, 2023 18:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสภาตลาดทุนไทย และ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าว่าในงานสัมมนาหัวข้อ" Thailand opportunity โอกาสของประเทศไทย" ว่า มองว่าน่าจะเป็นโอกาสการลงทุนที่ดีที่สุด หลังจากปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นสหรัฐ ตกลงไปกว่า 20% และบิทคอยน์ปรับตัวลงไปมากกว่า 65% เงินเฟ้อสูงและการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ในปี 66 หลายอย่างคลี่คลาย ทั้งเงินเฟ้อที่ลดลง การขึ้นดอกเบี้ยเข้าสู่จุดสูงสุด โดยเมื่อเวลาตลาดหุ้นปรับตัวลงคือตลาดหมีจะตามมาด้วยตลาดกระทิง นี่คือความหมายที่ว่าโอกาสการลงทุนที่ดีที่สุด โดยหลายครั้งวิกฤตยังไม่จบ แต่ตลาดหุ้นรีบาวน์ขึ้นมาแล้ว

"เพราะฉะนั้นจากปีที่แล้ว ชอบเตือนให้ทุกคนเข้าหลุมหลบภัย เปิดไซเรน แต่ปีนี้อยากจะบอกทุกคนว่าถึงเวลาเปิดฝาหลุมแล้วควรออกดูโลกว่าโอกาสอยู่ตรงไหนและเริ่มแย้มประตูออกไปดูว่าสินทรัพย์ต่างๆ กำลังปรับตัวอย่างไรบ้าง เพราะเวลาตลาดหมีเกิดภาวะถดถอย ตลาดจะตกประมาณ 30% และ 1 ปีให้หลังรีเทิร์นอย่างน้อย 50% หมายถึงว่าทุกราคาที่ซื้อขณะนี้ 2 ปีให้หลังน่าจะไปได้ดี เป็นผลตอบแทนที่ดี ...คิดว่าปีนี้เป็นปีที่น่าสนใจ นี่คือโอกาสที่ยิ่งใหญ่"

โอกาสที่สองคือการเป็น Hub ของภูมิภาค เป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะวางอนาคตให้ประเทศไทยก้าวไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งจุดนี้เป็นโอกาสที่ดีที่สุด เพราะทุกคนมองทะลุว่า เอเชียคือเป้าหมายของตลาดทั้งหมด เพราะขณะนี้มหาเศรษฐีกว่า 950 คน มากที่สุดในโลก หมายความคนที่รวยที่สุดของโลกกำลังอยู่ที่เอเชีย

สงครามที่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว มีผลต่อเนื่องมา รัสเซีย เราไปไม่ได้แล้ว ส่วนจีนกับสหรัฐก็ยังมีปัญหากันอยู่ และขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างกันก็แย่ลงไปเรื่อยๆ ส่วนอินเดียต้องยอมรับว่าเป็นประเทศที่ทำธุรกิจยาก น้อยคนจะสามารถทำกำไรจากตลาดนี้ไม่ง่าย

แต่ภูมิภาคที่น่าสนใจคือ อาเซียน นี่คือโอกาสที่กำลังเกิดขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง อาทิ เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนผ่าน โครงสร้างใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมกับบุญเก่าที่กำลังหมดไปของไทย หลายอุตสาหรรม เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โรงเหล็ก อาหาร กำลังถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) วัสดุใหม่ๆที่ผลิตโดยไม่มีคาร์บอน อาหารที่เป็นเนื้อเทียม

อย่างไรก็ดี ไทยกำลังสร้าง CBD ใหม่ จะเสร็จใน 5 ปี การขยายรถไฟใต้ดินก็เช่นกัน รวมถึง การขยายสนามบินสุวรรณภูมิ จะทำให้เราเป็น First Choice สร้างเป็นสำนักงานใหญ่ ศูนย์กลางต่างๆ ทั้งวิจัย การแพทย์ โลจิสติกส์ ทั้งหมดนี้อยู่ในเรื่องของไทยทั้งหมด แต่หัวใจคือจะเปลี่ยนตัวเองไปถึงจุดนั้นอย่างไร จะเปลี่ยนเรื่องการเข้าเมือง นโยบายเรื่องคน โครงสร้าง จะทำให้เมืองไทยน่าสนใจ รวมทั้งการเป็นฮับของสตาร์อัพ ทำได้หรือไม่

โอกาสที่ 3 คือการก้าวออกสู่ภูมิภาค นอกจากจะเป็นฮับแล้ว บริษัทของคนไทยเป็นโอกาสสำคัญจะก้าวไปสู่การยึดครองภูมิภาค อยากให้นักธุรกิจไทยให้คิดถึงเรื่องการย้ายฐานไปตั้งที่นั้น ซึ่งไทยมีโอกาสไปได้ไกลกว่า ประเทศ CLMV อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์กำลังมา ด้านบังกลาเทศก็น่าสนใจเช่นกัน และสุดท้ายกัดฟันไปสู้ที่เมืองอินเดียกัน เพราะคิดว่าสุดท้ายอินเดียก็เป็นอีกที่ที่ควรไป และไม่ควรปล่อยมือไปได้

"ทั้งหมด นี่คือโอกาสที่กำลังรอเราอยู่ หัวใจสำคัญที่สุด คือ ทำโอกาสที่เกิดขึ้นเป็นของเรา ซึ่งสำหรับประเทศไทยเราจะไปถึงจุดนั้น โค้งสำคัญที่สุด จะกำหนดว่าประเทศไทยจะเป็นใครใน 10 ปีนี้"นายกอบศักดิ์กล่าว

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไทยพึ่งพาการส่งออกสูงถึง 70% เมื่อโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะรับผลกระทบ โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมไทย ในปี 66 ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ , ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศเศรษฐกิจหลักซึ่งทำให้ออเดอร์ส่งออกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ, ภาวะเงินเฟ้อ นโยบายการเงินที่เข้มงวดและความผันผวนของค่าเงิน, การเปิดประเทศของจีนและจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด19 และ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) และมาตรการกีดกันทางการค้า

ส่วนปัจจัยในประเทศที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมไทย ได้แก่ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน , การส่งออกที่ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก, อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและความผันผวนของเงินบาท ,การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และ การเลือกตั้งในเดืนพ.ค.66

นายเกรียงไกร กล่าวว่า อุตสาหกรรมเพื่ออนาคต และเป็นเป้าหมายของสภาอุตสาหกรรม เป็น S-Curve Industries ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แบ่งเป็น First S-curve เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ยานยนต์สมัยใหม่ ,อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ,การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ,การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และการแปรรูปอาหาร ส่วน New S-curve ที่จะยกระดับมูลค่า ได้แก่ การพัฒนาคนและการศึกษา , ป้องกันประเทศ, การแพทย์ครบวงจร, ดิจิตอล, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, การบินและโลจิสติกส์ และ หุ่นยนต์ เหล่านี้จะทำให้ไทยสามารถเร่งเครื่องการเติบโต

นอกจากนี้ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งไทยได้เปรียบเรื่องนี้ ที่จะดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เช่น Smart Farming , เศรษฐกิจหมุนเวียน และ เศรษฐกิจสีเขียว เช่น Eco Factory , Eco Industrial Town , Carbon Credit Exchange เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ