ผู้ว่าฯ ธปท. มองศก.ไทย H2/66 ฟื้นตัวดีกว่า H1 ยอมรับยังกังวลหนี้ครัวเรือนสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 24, 2023 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวได้ดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยประมาณการว่า GDP ในช่วง H1/66 จะขยายตัว 2.9% เนื่องจากภาคส่งออกหดตัว 7.1% ก่อนจะพลิกมาบวกใน H2/66 ซึ่งคาด GDP H2/66 จะโตที่ 4.3% แต่ยังกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง โดยภาคธุรกิจท่องเที่ยวและการบริโภค จะยังเป็นเครื่องยนต์หลักในการพยุงเศรษฐกิจไทยปีนี้

ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยได้ผ่านช่วงช็อกที่สำคัญมาได้ถึง 4 สถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็น 1.ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19, ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน, ปัญหาดอกเบี้ยขาขึ้น และปัญหาในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี-ภาคธนาคารในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยได้เริ่มฟื้นตัวแล้ว โดยเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะสามารถเติบโตได้สูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดย ธปท.มองว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 2.9% ส่วนครึ่งปีหลังจะเติบโตได้ 4.3% ส่งผลให้ทั้งปี 2566 ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3.6% ทั้งนี้ เครื่องยนต์สำคัญที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ การท่องเที่ยว และการบริโภค

โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีนี้ จะอยู่ที่ 28 ล้านคน แบ่งเป็นช่วงครึ่งปีแรกราว 12 ล้านคน และครึ่งปีหลังราว 18 ล้านคน ขณะที่มูลค่าการส่งออก คาดว่าครึ่งปีแรกจะหดตัว-7.1% และจะพลิกกลับมาฟื้นตัวได้ 4.3% ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีนี้ คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.9% โดนอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ ธปท.กำหนดไว้ในช่วง 1-3% อย่างไรก็ดี ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน อาจจะยังทรงตัวในระดับสูง ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4% และเป็นระดับที่สูงกว่าในช่วงก่อนโควิดพอสมควร

"มองว่าช็อคจากเงินเฟ้อจะไม่อยู่นาน เราไม่เห็นสัญญาณเครื่องยนต์เงินเฟ้อที่ติดเร็วและแรง trend เงินเฟ้อเริ่มลดลง และกลับเข้ามาอยู่ในกรอบ ซึ่งปีนี้เราคาดว่าจะอยู่ในขอบบนของ 3%" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

พร้อมระบุว่า สิ่งที่ ธปท.ยังเป็นห่วงคือปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และลดลงช้า โดยล่าสุดไตรมาส 4/65 หนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ที่ 86.9% ของจีดีพี ซึ่งการที่หนี้ครัวเรือนปรับลดลงช้าจะเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจ และทำให้ภาคครัวเรือนฟื้นตัวได้ลำบาก ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.จึงได้มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน และต้องการเห็นหนี้ครัวเรือนลดลงต่ำกว่าระดับ 80%

"หนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน แม้จะลดลงจากช่วงโควิด ซึ่งขึ้นไปแตะที่ 90% ต่อจีดีพี แต่ก็ลดลงช้า และต้องใช้เวลานานกว่าจะลงไปแตะที่ระดับ 80% การที่หนี้ครัวเรือนลดลงช้า จะเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจและทำให้ครัวเรือนฟื้นตัวได้ลำบาก ถ้าปล่อยไปตามยถากรรม ก็จะไม่ดีต่อเสถียรภาพ เราจึงต้องมีมาตรการต่างๆ ออกมารองรับ" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

โดยมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น ธปท. ได้ดำเนินการโดยอยู่บนพื้นฐานของการทำอย่างครบวงจร ถูกหลักการ โดยไม่สร้างภาระเพิ่มเติมในอนาคตให้แก่ลูกหนี้ ไม่ทำลายวินัยทางการเงิน และไม่กระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในอนาคต ทั้งนี้ มาตรการที่ ธปท.ออกมาในช่วงโควิด จะเน้นการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ซึ่งอาจจะยังไม่เพียงพอ และกำลังพิจารณาหามาตรการเพิ่มเติมในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งคาดว่าจะมีมาตรการออกมาช่วงเดือนมิ.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ