หอการค้า ห่วงตั้งรัฐบาลช้า-ม็อบรุนแรงบานปลายฉุดเศรษฐกิจ กด GDP ลง 1%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 13, 2023 14:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการประเมินผลกระทบทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ภาคธุรกิจและประชาชนกังวลมาก ทั้งนี้ มีมุมมองว่า ประเด็นเรื่องการเมืองจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จาก 2 ปัจจัย ดังนี้

1. มีการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า : เป็นกรณีที่มีโอกาสเกิดขึ้น แต่ไม่ง่าย เนื่องจากมองว่าสภาฯ จะสามารถดำเนินการให้จบลงได้จาก 3 กรณี คือ

  • เลือกพรรคก้าวไกล โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่เป็นนายกฯ
  • ถ้านายพิธา ไม่ได้เป็นนายกฯ พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อต่อ โหวตเลือกหรือไม่เลือก
  • ถ้าพรรคขั้วเดิมเสนอแล้วไม่ผ่าน เลือกไม่ได้ ก็สลับขั้ว โดยอาจมีการเลือกนายกฯ ในบัญชีรายชื่อ และเสนอโหวตผ่านหรือไม่ผ่าน ทั้งนี้ ถ้าไม่ผ่านต้องดูว่านายกฯ ที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อ ซึ่งจะต้องได้รับเสียงจากส.ส. ประมาณ 500 เสียง จะมาหรือไม่ อย่างไร จบหรือไม่จบ สถานการณ์ควรจะมาถึงจุดนี้อย่างรวดเร็วได้ภายใต้การทำงานของสภาฯ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การประชุมสภาฯ มีบทบาทสำคัญมากว่า จะโหวตหรือไม่โหวต ถ้าไม่โหวตต้องดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเมื่อไร และเหตุผลในการไม่โหวตคืออะไร การไม่โหวตมาจากการที่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญเคลียร์ก่อน แสดงว่าต้องรอศาลรัฐธรรมนูญแล้วค่อยโหวต ซึ่งต้องดูว่าศาลฯ จะวินิจฉัยได้เมื่อไร โดยตามกรอบ 1-2 สัปดาห์เพียงพอ ทั้งนี้ ถ้าไม่โหวตสภาฯ ต้องให้เหตุผล ซึ่งนายพิธา จะเจอ 2 กรณี คือ 1. หุ้น ITV มีผลต่อนายพิธา และการเซ็นรับรองส.ส. และ 2. มาตรา 112 ซึ่งมีผลต่อการยุบพรรค ซึ่งทั้ง 2 กรณี มีเหตุต่อการไม่โหวตเพราะโหวตไปอาจกลายเป็นโมฆะ

"หากไม่โหวตก็ไม่น่าจะมีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่รุนแรงมากนัก เพราะยังไม่ตัดสินว่าเลือกใคร ถ้าโหวตและผ่านก็เข้าสู่กระบวนการปกติ แต่ถ้าไม่ผ่านก็ต้องดูว่าจะต้องโหวตอีกกี่รอบ ซึ่งจะมีแรงกดดันทางการเมือง เช่น อยากให้ส.ว. เลือก แต่น่าจะเป็นแรงกดดันที่เบา ถ้าโหวตรอบ 2 ก็ต้องดูว่าคะแนนห่างเยอะเท่าไร จะมีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างไร" นายธนวรรธน์ กล่าว

สำหรับจุดที่จะมีความล่าช้า คือ ไม่สามารถโหวตนายกฯ ได้ หรือไม่สามารถเสนอขั้นตอนต่างๆ ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น การที่จะมีรัฐบาลที่ล่าช้า ไม่น่าจะล่าช้าเกินไป อยู่ในกรอบเดือนส.ค.-ก.ย. น่าจะได้รัฐบาล ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการเสียโอกาสรุนแรง เนื่องจากถ้าได้คณะรัฐมนตรีในเดือนส.ค. ก็จะสามารถกำหนดงบประมาณ และใช้ได้ในไตรมาส 1/67 ซึ่งอยู่ในกรอบที่ไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรง

อย่างไรก็ดี รัฐบาลรักษาการยังสามารถดำเนินการเคลื่อนงบประมาณที่เป็นงบผูกพันต่อเนื่องได้ ขณะที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีงบอยู่น่าจะสามารถเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้ ขณะเดียวกันงบประจำ งบครุภัณฑ์ก็ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้

"ภาพที่ชัดเจน คือ การมีรัฐบาลที่อยู่ในกรอบ ส.ค.-ก.ย. จะทำให้ภาคเอกชนเริ่มเห็นทิศทาง และเริ่มตัดสินใจในการลงทุน เคลื่อนเศรษฐกิจต่อ ถ้าจัดตั้งรัฐบาลดีเลย์ไป 2 เดือน หรือต.ค. ก็จะทำให้งบประมาณล่าช้าไปอีก หรือใช้ได้ในไตรมาส 2/67 ดังนั้น การตั้งรัฐบาลน่าจะอยู่ในไตรมาส 3/66 หรือต้นไตรมาส 4/66 ก็จะยังพอขยับเศรษฐกิจได้ ถ้าเลยไปกว่านั้นน่ากังวล แต่ตามเทคนิคไม่ควรเกิน" นายธนวรรธน์ กล่าว

2. มีเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง : ถ้าการชุมนุมอยู่ในกรอบที่เหมาะสม ไม่มีเหตุการณ์ปะทะรุนแรง จนมีการบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือเผาทำลายทรัพย์สิน ไม่น่ามีเหตุให้ระบบเศรษฐกิจกระเทือน

"ถ้าการชุมนุมยืดเยื้อ เป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยที่ทำได้ และอยู่ในกรอบตามกฎหมาย ซึ่งมองว่าไม่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจถูกพึ่งพาด้วยการท่องเที่ยว" นายธนวรรธน์ กล่าว

ดังนั้น การชุมนุมในเวลาและพื้นที่ที่เหมาะสม ที่ไม่กระทบพื้นที่ท่องเที่ยว จะไม่ทำลายเศรษฐกิจไทย เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยยังโต 3.0-3.5% ได้ แต่ถ้าทุกอย่างผ่านไปได้ ไม่มีการชุมนุมทางการเมือง เศรษฐกิจไทยพร้อมไปต่อ และโตในกรอบ 3.5-4.0% อย่างไรก็ดี ยังไม่เห็นความเสี่ยงว่าเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่า 3.0%

"เพิ่งกลับจากฝรั่งเศส ไม่ได้กลิ่นการประท้วงเลย สนามบินยังเต็มไปด้วยผู้คน เพราะเขามีการประท้วงในพื้นที่จำกัด ดังนั้น ของไทยถ้ามีทำความเข้าใจกันดีๆ ชุมนุมในกรอบที่เหมาะสม น่าจะไม่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และไม่ดึงเศรษฐกิจไทยลง ทั้งนี้ ถ้าการชุมนุมยืดเยื้อแต่จบในส.ค.-ก.ย. จะไม่กระทบฤดูท่องเที่ยวในเดือนต.ค. อย่างไรก็ดี ต้องดูภาพการชุมนุมต่อไป" นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีปัจจัยสำคัญ คือ การท่องเที่ยว ซึ่งตั้งเป้าว่าปี 66 จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไทย 30 ล้านคน ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยทุก 10 ล้านคน จะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งครึ่งปีแรกนักท่องเที่ยวเข้าไทยแล้ว 12-13 ล้านคน ครึ่งปีหลังน่าจะเข้ามาอีก 17-18 ล้านคน โดยเฉพาะในไตรมาส 4/66 ที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาถึง 7-9 ล้านคน

อย่างไรก็ดี ถ้าการเมืองกระทบการท่องเที่ยว จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเพียงเดือนละ 1 ล้านคน จากเดิมเดือนละ 2-3 ล้านคน ซึ่งถ้าสถานการณ์ทางการเมืองบานปลาย ต้องลากยาวไปถึง 6 เดือน หรือถ้าการชุมนุมเกิดขึ้นตั้งแต่ก.ค. ถ้ารุนแรงและทำให้นักท่องเที่ยวกลัว นักท่องเที่ยวจะหายไปครึ่งหนึ่ง หรือนักท่องเที่ยวหายไป 10 ล้านคน รายได้หายไป 5 แสนล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยลดลงประมาณ 1% ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่น และการจ้างงานเริ่มติดขัด อย่างไรก็ดี มองว่าการชุมนุมประท้วงรุนแรงไม่น่าจะเกิดขึ้น จึงยังไม่ประเมินว่าจะเลวร้ายถึงขั้นนั้น

ส่วนสถานการณ์ในต่างประเทศ เชื่อว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังขึ้นดอกเบี้ย แต่อาจเปลี่ยนจากการขึ้น 2 ครั้ง เป็นขึ้นอีก 1 ครั้ง ขณะเดียวกัน ธนาคารยุโรป และอังกฤษ ก็จะยังขึ้นดอกเบี้ยเช่นกัน เพื่อทำให้เศรษฐกิจชะลอลง ดังนั้น การส่งออกของไทยยังไม่ฟื้นในไตรมาส 3/66 อย่างไรก็ดี หวังว่าในไตรมาส 4/66 การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะจบ และเชื่อว่าเศรษฐกิจจีน อินเดีย และเอเชียจะกลับมา เงินบาทจะยังประคองการส่งออกไปได้ ทำให้การส่งออกเป็นตัวเอกช่วงปลายปี และยังขยายตัวติดลบ แต่ติดลบน้อยลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ