ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ก.ค.ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน กำลังซื้อหด ฉุดการผลิตชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 16, 2023 10:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ก.ค.ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน กำลังซื้อหด ฉุดการผลิตชะลอ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 92.3 ปรับตัวลดลง จาก 94.1 ในเดือนมิ.ย. 66 โดยค่าดัชนีฯ ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของค่าดัชนีฯ พบว่าปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ เนื่องจากภาคการผลิตและอุปสงค์สินค้าชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า

โดยมีปัจจัยเสี่ยงในประเทศ มาจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้กำลังซื้อของครัวเรือนอ่อนแอลง ส่งผลต่อความต้องการบริโภคสินค้าอุตสาหกรรมลดลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์ทางการเมืองยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน

ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ก.ค.ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน กำลังซื้อหด ฉุดการผลิตชะลอ
"การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ครั้งล่าสุด สมาคมธนาคารไทยรายงานหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 90.6% ซึ่งยังไม่รวมหนี้นอกระบบที่มีถึง 19.6% ดังนั้น รวมหนี้ทั้งหมด 110.2% ซึ่งหนี้นอกระบบยังมีอัตราดอกเบี้ยที่แพงมาก จึงกดดันกำลังซื้อ ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปอีก คนเป็นหนี้ก็มีภาระเพิ่ม" นายเกรียงไกร กล่าว

สำหรับปัจจัยเสี่ยงนอกประเทศ มาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบางจากอุปสงค์ในตลาดโลกลดลง ทำให้การส่งออกส่งสัญญาณชะลอตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 ขณะที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำกว่าคาด และยังมีปัญหาโดยเฉพาะปัญหาอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยพยุงการบริโภค และการใช้จ่ายในประเทศ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.2 ปรับตัวลดลง จาก 102.1 ในเดือนมิ.ย. เนื่องจากผู้ประกอบการกังวลต่อความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณภาครัฐ ตลอดจนขาดความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาทิ ราคาพลังงานค่าไฟฟ้า และค่าจ้างแรงงาน เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจการ ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ผู้ประกอบการยังมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้

1. เร่งจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว และออกนโยบายฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ

"การเมืองแม้จะมีข่าวออกทุกวันว่า มีการจับมือ หรือใครเป็นนายกฯ แต่ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน ทั้งนี้ ส.อ.ท. ขอให้ยึดการจัดตั้งรัฐบาลตามไทม์ไลน์เดิม คือ สิ้นเดือน ส.ค. เพราะเอกชนได้เตรียมแผน และรับความเสี่ยงตามไทม์ไลน์ไว้แล้ว ถ้าขยายออกไปอีก 10-15 วัน ก็ยังไม่เป็นผลอะไร แต่ถ้าลากยาวไป 1 เดือน หรือถึง 10 เดือน มองว่ายาวเกินไป จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่รัฐต้องเร่งรับมือ คือ ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ต่อเนื่องมายังภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ" นายเกรียงไกร กล่าว

2. เร่งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากภาระต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน และลดความเสี่ยงการเป็นหนี้เสีย (NPL)

"ตอนนี้สถานการณ์ NPL น่าเป็นห่วง ขณะนี้ผู้ผ่อนรถจำนวนมากผ่อนไม่ไหว ทำให้เกิดการยึดรถมากเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกัน ก็กังวลว่าผู้ผ่อนบ้านก็จะผ่อนไม่ไหวเช่นกัน ดังนั้น ขอให้รัฐเร่งออกมาตรการช่วยเหลือเรื่องนี้" นายเกรียงไกร กล่าว

3. ขอให้ใช้กลไกของทูตพาณิชย์ในการเจรจาเร่งจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) และลดปัญหาทั้งอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) และมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures: NTMs) รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าแบบมุ่งเป้าไปยังกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่ม GCC, ลาตินอเมริกา, เอเชียใต้ เป็นต้น เพื่อช่วยขยายโอกาสทางการค้าและสนับสนุนภาคการส่งออก

"อยากให้ภาครัฐเร่งทำ FTA เช่น หลายปีที่ผ่านมาไทย-อียู หยุดชะงัก ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านได้เปรียบในการส่งออกไปอียู ส่วนไทยถ้าจะส่งออกไปอียูนั้น ต้องเสียภาษีนำเข้า เพราะไม่มี FTA ดังนั้น รัฐควรต้องเร่งแก้เพื่อให้ไทยมีแต้มต่อ" นายเกรียงไกร กล่าว

นายเกรียงไกร กล่าวว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ ไทยส่งออกไปยังประเทศอาเซียนลดลง ขณะเดียวกัน สินค้าจากประเทศจีนยังทะลักเข้ามาในประเทศไทยด้วย ซึ่งสินค้าจากจีนมีราคาถูกมาก ผู้บริโภคจึงหันไปซื้อสินค้าจากจีนมากขึ้น เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศกำลังอ่อนแอ ทำให้ผู้ผลิต SME ไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ดังนั้น ฝากไปยังรัฐบาลให้ปกป้องผู้ผลิต SME ในประเทศ จากสินค้าราคาถูกจากจีนด้วย

"ปีนี้เรื่องส่งออกไม่ดี แต่มีภาคท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ หวังว่าปีนี้นักท่องเที่ยวจะเข้ามาได้ถึง 30 ล้านคน ซึ่งจะช่วยพยุงกำลังซื้อในประเทศได้ แต่ภาครัฐก็ต้องเร่งเบิกจ่ายงบและลงทุนต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ลดต้นทุนให้กับผู้ส่งออก โดยเฉพาะราคาพลังงาน ที่ประเทศเพื่อนบ้านมีแต้มต่อ ค่าไฟต่ำกว่าไทยเกือบครึ่งหนึ่ง" นายเกรียงไกร กล่าว

4. ขอให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะโครงการลงทุนต่างๆ ที่ยังค้างท่อ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายพิภพ โชควัฒนา กรรมการ ส.อ.ท. กล่าวว่า เนื่องจากภาคการส่งออกของไทยชะลอตัวติดต่อกัน 9 เดือน จึงได้มีการสำรวจพบกระทบต่างต่อภาคการส่งออกไทย พบว่า มาจากปัจจัยทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ ดังนี้

  • ปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ ต้นทุนการผลิตและโลจิสติกส์อยู่ในระดับสูง, อุปทานล้นตลาด และสินค้าคงคลังยังอยู่ในระดับสูง และการแข่งขันทางธุรกิจที่อยู่ในระดับที่ต่ำ
  • ปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ คำสั่งซื้อต่างประเทศลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ และบางสินค้าปรับตัวลดลงตามฤดูกาล, สินค้าจีนทะลักเข้าสู่ประเทศคู่ค้า, ปัญหาด้านกฎระเบียบการค้าใหม่จากประเทศคู่ค้า และความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์

ดังนั้น ส.อ.ท. จึงมีข้อเสนอเรื่องการส่งออก ดังนี้

1. ออกมาตรการดูแลต้นทุนและการผลิต ให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและราคาพลังงาน

2. เร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี FTA เช่น ไทย-สหภาพยุโรป และไทย-กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) เป็นต้น และส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีใน FTA ฉบับเดิมให้มากขึ้น

3. เพิ่มการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังตลาดเป้าหมายใหม่ๆ เช่น Business Matching จัดงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ

4. เร่งดำเนินการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้ากับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTB) ของประเทศปลายทางส่งออก เช่น อินเดีย เป็นต้น

5. จัดกิจกรรมฝึกอบรมพัฒนานักส่งออก และให้มีความรู้ด้านการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ