กรมเชื้อเพลิง เร่งแก้ปัญหาแหล่งก๊าซทดแทนกำลังผลิตเอราวัณเพิ่มล่าช้าหวังกดค่าไฟ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 11, 2023 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ชี้แจงกรณีที่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ไม่สามารถดำเนินการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ (G1/61) เป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ลบ.ฟ.)/วัน ตามกำหนดในวันที่ 1 ธ.ค.66 ได้ เนื่องจากเครนเรือ K1 ที่ใช้ติดตั้งแท่นผลิตแปลงสำรวจเกิดร้าวเสียหาย ทำให้ต้องเปลี่ยนเรือใหม่ ส่งผลให้การผลิตล่าช้าไปอย่างน้อย 2 เดือน จากปัจจุบันที่ผบิตได้ 400 ล้าน ลบ.ฟ./วัน

อธิลดีกรมเชื้อเพลิงฯ กล่าวว่า กรมฯ อยู่ระหว่างการประสานงานทุกฝ่ายเพื่อหากำลังผลิตเพิ่มเข้ามาทดแทนแหล่งเอราวัณที่ไม่สามารถเพิ่มได้ตามกำหนด แม้ว่าทาง PTTEP จะให้ความมั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มกำลังผลิตให้เป็นไปตามสัญญาระบบแบ่งปันผลผลิตที่ 800 ล้าน ลบ.ฟ./วันภายในวันที่ 1 เม.ย.67

กรมฯ เร่งประสานงานกับทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหา โดย PTTEP ได้เพิ่มกำลังผลิตในแหล่งบงกช (G2/61) อีก 130 ล้าน ลบ.ฟ./วัน จากสัญญาผลิตเต็มที่ 700 ล้าน ลบ.ฟ./วัน รวมทั้งไม่มีการหรี่หรือปรับลดกำลังผลิตแหล่งอาทิตย์ โดยผลิตเพิ่มอีก 60 ล้าน ลบ.ฟ./วัน พร้อมทั้งประสานงานแหล่งยาดานาจากเมียนมาขอความร่วมมือให้คงกำลังผลิต 350 ล้าน ลบ.ฟ./วันให้นานที่สุด และประสามงานมาเลเซียให้ส่งก๊าซจากแหล่งพัฒนาพื้นที่ร่วมเจดีเอมาใช้ในไทยในส่วนที่มาเลเซียยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้

นายศุภลักษณ์ กล่าวว่า ภาพรวมในขณะนี้การบริหารจัดการแหล่งก๊าซฯทางท่อทดแทนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จะช่วยทำให้ไม่เพิ่มภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า

ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชานั้น กรมฯ พร้อมร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศประสานงานในขั้นตอนดำเนินการ ซึ่งจะต้องมีการออกกฏหมายขึ้นมารองรับ แต่ก็คาดว่ากว่าจะผลิตก๊าซฯขึ้นมาได้น่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี อย่างไรก็ตาม หากบรรลุข้อตกลงกันได้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อทั้งสองประเทศ เพราจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากแหล่งปิโตรเลียม และการใช้ก๊าซฯนำมาผลิตไฟฟ้าก็ยังช่วยลดค่าครองชีพประชาชนด้วย

ปัจจุบัน แหล่งอ่าวไทยมีปริมาณก๊าซลดน้อยลง จากเดิมเคยผลิตได้ 70% ของความต้องการใช้ในประเทศ แต่ในขณะนี้เหลือเพียง 50% จึงต้องพึ่งพาการนำเข้า LNG หรือก๊าซธรรมชาติเหลวจากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่า ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศไทยแพงขึ้น

"ทุกฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหาแหล่งเอราวัณให้ได้มากที่สุด เพื่อพยายามไม่ให้กระทบค่าไฟ แหล่งเอราวัณจะต้องเร่งติดตั้งแท่นหลุมเพิ่มอีก 4 หลุม จากติดตั้งแล้ว 8 แท่น ขณะนี้มีการเจาะหลุมผลิตแลวเสร็จถึง 218 หลุม แท่นขุดเจาะ 6 แท่น หากทุกอย่างไม่เกิดปัญหา ไม่ว่าจะคลื่นลมแรง เรือติดตั้งได้ตามคาด ก็คงดีเลย์ 2 เดือน แต่หากผิดคาดก็ยังจะผลิตให้ได้ตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในวันที่ 1 เม.ย.67 แต่หากยังไม่ได้อีกก็จะผิดสัญญาจะมีบทปรับต่อ ปตท.สผ."นายศุภลักษณ์ กล่าว

ส่วนแหล่งไพลินที่ใกล้หมดสัญญานั้น ในขณะนี้กรมฯพยายามคุยกับเชฟรอนฯที่เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อให้ช่วงการเปลี่ยนผ่านไม่เกิดปัญหาเช่นเดียวกับแหล่งเอราวัณ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ