สศค.หั่น GDP ไทยปี 66 เหลือโต 2.7% ก่อนเร่งขึ้น 3.2% ในปี 67

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 27, 2023 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สศค.หั่น GDP ไทยปี 66 เหลือโต 2.7% ก่อนเร่งขึ้น 3.2% ในปี 67

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการ ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 ว่า เศรษฐกิจไทยปี 66 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.7% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2 - 3.2%) จากเดิมที่คาดไว้จะโตได้ 3.5%

สาเหตุหลักเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ทำให้คาดว่าภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้ -1.8% หดตัวเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ -0.8% ขณะเดียวกันตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเดินทางเข้าไทยในปีนี้ ลดลงเหลือ 27.7 ล้านคน ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 29.5 ล้านคน และรายได้จากการท่องเที่ยวเหลือ 1.18 ล้านล้านบาท ลดลงจากเดิมที่ 1.25 ล้านล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อตัวเลขนักท่องเที่ยวของจีนซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายของไทยให้เดินทางลดลงด้วย

"การปรับลดคาดการณ์ของคลังในครั้งนี้ ถือเป็นตัวเลขที่สอดคล้องกับหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโต 2.7% และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 2.8% โดยยืนยันว่าแม้จะมีการปรับลดคาดการณ์ลง แต่ก็ยังอยู่ในทิศทางการขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่มาน้อยกว่าคาด ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวลดลง และจากการส่งออกที่ยังได้รับผลกระทบอยู่" นายพรชัย กล่าว

ขณะที่ยังมีปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ ทั้งจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 5.8% รวมถึงแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่คลี่คลายลง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดีขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ 0.9% ส่วนการบริโภคภาครัฐหดตัว 3.4% ต่อปี การลงทุนภาครัฐทรงตัว โดยทั้ง 2 เรื่องเป็นผลมาจากกระบวนการจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 1.5% ต่อปี

สำหรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 67 คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2 - 4.2%) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจาก การบริโภคภาคเอกชน ที่คาดว่าขยายตัว 3.1% การส่งออกคาดว่าขยายตัว 4.4% ต่อปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ทำให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวตามไปที่ระดับ 3.5% ต่อปี ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างดี โดยคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยที่ 34.5 ล้านคน ขยายตัว 24.6% ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยว อยู่ที่ 1.49 ล้านล้านบาท ขยายตัว 26% หลัก ๆ มาจากนักท่องเที่ยวจีน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีน

"ตัวเลขเศรษฐกิจในปี 67 ที่ขยายตัว 3.2% นั้น ยังไม่ได้รวมผลกระทบจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เนื่องจากโครงการยังไม่มีความชัดเจน ทั้งในเรื่องของกลไกและรูปแบบการใช้จ่าย ดังนั้นจึงยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนว่ามาตรการจะมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร จึงอยากให้รอความชัดเจนในส่วนนี้ก่อน ดังนั้นการประมาณการในครั้งนี้จึงมาจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจปกติที่ยังทำงานได้อยู่" นายพรชัย กล่าว

สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ

1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์สู้รบในอิสราเอลและกาซาที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น ความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและการค้าระหว่างประเทศ จำเป็นต้องติดตามบทบาทและท่าทีของแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด

2) ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

3) สถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย

4) ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่อาจทำให้เกิดภัยแล้งในปี 2567 ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร

นายพรชัย กล่าวว่า ในเดือน พ.ย. 66 กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธปท. ต้องเริ่มคุยถึงแนวทางการจัดทำงบประมาณปี 2568 และภาพรวมการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีดังกล่าว เพื่อให้เห็นภาพเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งในช่วงต้น-กลางปี 67 จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐเข้าไปช่วย ทั้งมาตรการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท และมาตรการอื่น ๆ ในการดูแลยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน แต่จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เท่าไหร่ คงต้องไปดูเงื่อนไขการใช้จ่าย กลุ่มเป้าหมาย และเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจว่ามีเท่าไหร่ รวมทั้งยังมีการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ขณะที่การส่งออกน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากระดับปัจจุบันให้เติบโตได้ถึงระดับศักยภาพ โดยการที่จะทำให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% นั้น จะต้องมีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ