"อนุสรณ์" แนะไทย-อาเซียน ต้องกำหนดฐานะทางยุทธศาสตร์ต่อ APEC ให้ชัดเจน

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday November 12, 2023 17:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การเข้าร่วมประชุมเอเปค (APEC) ของผู้นำอาเซียนและผู้นำไทย จะไม่ได้ประโยชย์เต็มที่นัก หากไม่กำหนด "ฐานะทางยุทธศาสตร์" (Strategic Position) ในการเจรจาหารือของกลุ่มอาเซียนและของไทยให้ดีเสียก่อน เนื่องจากลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเปค เป็นการรวมตัวแบบหลวม ๆ ระหว่างประเทศ ไม่ใช่เวทีในการเจรจาการเปิดเสรี การเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาและเศรษฐกิจที่เป็นทางการ

ประเทศไทยเคยให้ความสำคัญกับเอเปคอย่างมาก และเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคถึง 3 ครั้ง แต่ไทยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการประชุมได้ไม่เต็มศักยภาพ สหรัฐอเมริกาเองมุ่งความสนใจไปที่เวที TPP (Trans Pacific Partnership) มากกว่า ขณะที่จีนก็มุ่งความสนใจไปที่เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific) ที่พยายามกันให้สหรัฐอเมริกาอยู่นอกเวทีความร่วมมือ ส่วนญี่ปุ่นก็มุ่งไปที่ CTPPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnerships) หลังจากสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลง TPP ในยุครัฐบาลโดนัล ทรัมป์ จากนั้นในยุครัฐบาลโจ ไบเดน ดูเหมือนสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญต่อเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้น รวมทั้ง CTPPP (หรือ TPP เดิม) แต่ทว่า ผู้นำสหรัฐอเมริกาเองก็ไม่ได้มาร่วมการประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเมื่อปี 2565

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การตัดสินใจของสหรัฐอเมริกา ในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2566 นั้น เป็นผลจากข้อเสนอของบรรดากลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจและเศรษฐกิจ รวมทั้งทีมที่ปรึกษามากกว่าศูนย์กลางอำนาจในทำเนียบขาว เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯได้เสนอยุทธศาสตร์ต่อเอเชียแปซิฟิก ผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดแปซิฟิกเพื่อความมั่งคั่ง (IPEF) ซึ่งมีสมาชิก 14 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย สี่เสาหลักความร่วมมือ ได้แก่ เสาความร่วมมือทางด้านการค้า เสาความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทาน เสาความร่วมมือเศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เสาความร่วมมือเพื่อเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

นายอนุสรณ์ มองว่า ประเทศไทยและอาเซียนโดยรวม ยกเว้นสิงคโปร์ และเวียดนาม ยังขาดยุทธศาสตร์ชัดเจนต่อเอเปค และ ข้อตกลงทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกอื่น ๆ การประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายลอย ๆ กว้าง ๆ เบื้องต้น 3 ข้อที่รัฐบาลเศรษฐา สามารถสานต่อเพื่อทำให้เกิดรูปธรรมและรายละเอียด ได้แก่

1. การผลักดันให้เอเปค ทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิกในบริบทหลังโควิด-19 โดยในการประชุมเอเปคที่สหรัฐอเมริกาครั้งนี้ ไทยควรใช้เวทีเอเปค หารือประเด็นขัดแย้งหรือเห็นต่างในเรื่องความร่วมมือทางการค้า การบริหารห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างความเป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างทุนข้ามชาติ (บรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่) ทุนชาติทุนท้องถิ่น และกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

2. ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การเชื่อมต่อกันทางด้านโทรคมนาคมและการขนส่ง การฟื้นฟูการเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกปลอดภัย และการพัฒนาระบบ กลไกและแนวทางในการรับมือกับความท้าทายจากการแตกขั้วของประเทศในภูมิภาคและการแตกขั้วของโลกาภิวัตน์ (Geo-Economic Fragmentation)

3. ผลักดันให้เกิดความคืบหน้าของ "เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว" ซึ่งได้มาประกาศเอาไว้ในการประชุมครั้งที่แล้ว พัฒนาให้เป็นเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนฉบับแรกของเอเปค โดยเน้นเป้าหมายหลัก 4 ข้อ ได้แก่ การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืน และการลดและจัดการของเสียอย่างยั่งยืน

* ไม่มีความเสี่ยงภาวะเงินฝืดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงไทย

นายอนุสรณ์ ยังกล่าวด้วยว่า จากการประเมินภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ล่าสุด พบว่าอัตราการขยายของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะอยู่ที่ 4.6% ในปีนี้ และอัตราการขยายทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเล็กน้อยสู่การเติบโตในระดับ 4.2% ในปีหน้า โดยมีสัญญาณของการเกิดภาวะเงินเฟ้อลดลง (Disinflation) อย่างชัดเจนในหลายประเทศในภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทย อันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงิน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและกำลังซื้ออ่อนแอลง

"แม้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะเป็นภูมิภาคที่เผชิญภาวะเงินเฟ้อลดลง (Disinflation) มากกว่าภูมิภาคอื่น แต่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ดีกว่าภูมิภาคอื่น จึงไม่ได้มีความเสี่ยงภาวะเงินฝืด (Deflation) แต่อย่างใด" นายอนุสรณ์ กล่าว

พร้อมระบุว่า การดำเนินนโยบายสาธารณะแบบทวิวิถี (Dual-Track Development Policy) ของรัฐบาลไทย โดยผสมผสานระหว่างยุทธศาสตร์กระตุ้นเศรษฐกิจภายใน ผ่านการบริโภคและการลงทุน เป็น Domestic Demand-led Growth จะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือความท้าทายจากอัตราการขยายของภาคส่งออกที่อ่อนกำลังลงเมื่อเทียบกับปี 2565 มาตรการต่าง ๆ ในการดูแลและกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน มีความจำเป็นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกอาจชะตัวลงในปีหน้า ไม่ว่านโยบายพักหนี้เกษตรกร มาตรการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท โครงการสินเชื่อชะลอขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อสถาบันการเกษตร การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและขึ้นเงินเดือนข้าราชการ การแจกเงินดิจิทัล จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ และชดเชยการอ่อนตัวลงของอุปสงค์ภายนอกได้ระดับหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ