รมช.คลัง ยันเดินหน้า "ดิจิทัลวอลเล็ต" แม้อาจล่าช้าจากพ.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 29, 2024 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมช.คลัง ยันเดินหน้า

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ยืนยันว่า รัฐบาลจะยังเดินหน้าโครงการแจกเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ยอมรับว่าโครงการจะต้องล่าช้าออกไปกำหนดเดิมในเดือน พ.ค.67 และยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาใหม่ที่ชัดเจนว่าจะเริ่มโครงการดังกล่าวได้ในช่วงใด

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเลื่อนออกไปไม่นานจากกำหนดการเดิม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอหนังสือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงยังไม่ได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการเตรียมพร้อมรับมือว่าข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. จะออกมาเป็นอย่างไร เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ หากรัฐบาลได้รับเอกสารจาก ป.ป.ช.แล้ว รัฐบาลก็จะมีคำตอบว่าจะเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไปอย่างไร

"หลังจากรัฐบาลได้รับเอกสารจาก ป.ป.ช.แล้ว ก็ควรจะถึงจุดจบที่รัฐบาลจะต้องมาตัดสินใจว่าจะเอาอย่าไร จะเดินหน้าโครงการในรูปแบบใด ถึงเวลานั้น มันควรต้องมีคำตอบแล้ว...เอกสารของ ป.ป.ช. ที่หลุดออกมานั้น รัฐบาลก็ยังไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้ว เอกสารจริงจะเป็นอย่างไร แต่ก็ถือว่าทำให้รัฐบาลได้เห็นโจทย์พอสมควรว่าข้อห่วงใยของ ป.ป.ช. ในแต่ละประเด็นคืออะไร เราก็มีหน้าที่ในการตอบคำถามในส่วนที่เราตอบได้ อะไรที่ตอบไม่ได้ เราก็เตรียมการว่าเมื่อมาแล้วเราจะดำเนินการอย่างไร เพื่อที่จะให้ข้อห่วงใย ข้อเสนอแนะเหล่านั้น มันมีคำตอบในตัวของมัน" รมช.คลัง ระบุ

ส่วนเรื่องที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า จะมีการเปลี่ยนกรอบการกู้เงินจากการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เป็นการออก พ.ร.ก. กู้เงินหรือไม่นั้น รมช.คลัง ยืนยันว่ายังไม่ได้มีการพูดคุย ถ้าถามในข้อเท็จจริงไม่ว่าจะเป็นกลไกการกู้เงินแบบใดก็ตามที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาล เรายังมีเครื่องมือนั้นอยู่เสมอ แต่ ณ ตอนนี้รัฐบาลยังไม่ได้มีการพูดคุยในส่วนนั้น

รมช.คลัง ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีการปรับนโยบาย หรือเงื่อนไขของโครงการอย่างแน่นอน แต่ในช่วงที่โครงการล่าช้าออกไปนั้น รัฐบาลมีกลไก หรือเครื่องมืออีกมากมายที่จะมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลไม่ได้ทำแค่ดิจิทัลวอลเล็ตโครงการเดียว โดยมาตรการที่รัฐบาลดูอยู่ มีทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุน และกระตุ้นการบริโภค รวมทั้งได้มีการเร่งด้านงบประมาณ ซึ่งเป็นอีกกลไกสำคัญ โดยจะพยายามให้ผ่านสภาฯ ก่อนเดือน เม.ย.67 รวมถึงอาจจะมีการเปิดให้มีการลงนามในสัญญา TOR ก่อนกรณีจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมหากงบประมาณเรียบร้อย โครงการจะได้เดินหน้าต่อเนื่องได้ทันที

รมช.คลัง กล่าวด้วยว่า ระยะเวลาของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ล่าช้าออกไปนั้น แน่นอนว่าผลของมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการเติมเงินในลักษณะนี้ที่จะมีต่อระบบเศรษฐกิจ ก็จะต้องล่าช้าออกไปด้วย ซึ่งเมื่อโครงการล่าช้าออกไป ผลกับเศรษฐกิจก็ล่าช้าออกไป ดังนั้นความคาดหวังกับผลของโครงการที่จะได้ในปี 2567 ต่อระบบเศรษฐกิจก็อาจจะลดน้อยลง ถือเป็นเรื่องธรรมดา

ส่วนที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัว 1.8% นั้น ไม่ใช่แค่จาก สศค. หน่วยงานเดียวเท่านั้น แต่เป็นตัวเลขที่ทุกหน่วยงานได้หารือกัน ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่จะออกตัวเลขในเดือนหน้า (ก.พ.) แต่ก็เชื่อว่าตัวเลขจะใกล้เคียงกัน และคงไม่มีใครจะไปเปลี่ยนตัวเลข เพราะมาจากข้อมูลจริงที่เกิดขึ้น และชี้ชัดได้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหา

ส่วนปี 67 ที่ สศค. มองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.8% นั้น เป็นตัวเลขที่ยังไม่ได้รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล

นายจุลพันธ์ กล่าวถึงมุมมองเศรษฐกิจต่อคำว่า "วิกฤต" ว่า ไม่มีใครเป็นคนกำหนดได้ หากถามว่าเศรษฐกิจวิกฤตหรือไม่ คงเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่เรื่องนี้รัฐบาลมีอำนาจในการบริหารราชการ ดังนั้นหากขณะนี้รัฐบาลมองว่าเศรษฐกิจวิกฤต และดำเนินตามกรอบกฎหมายทั้งหมด รัฐบาลก็จะเดินหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ส่วนงานอื่นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบ เช่น ป.ป.ช. ในการติดตามตรวจสอบ

"ถ้า ป.ป.ช. จะมาบอกว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คอร์รัปชัน มันไม่ใช่ เพราะโครงการยังไม่ได้เริ่ม แต่ถ้าบอกว่า ป.ป.ช. เป็นห่วงในประเด็นใด รัฐบาลพร้อมรับฟังและจะหาหนทางแก้ไข และแน่นอนว่าเมื่อโครงการเสร็จแล้ว มีการดำเนินการตามขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว หากมีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น ตรงนี้จึงจะเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่" รมช.คลัง กล่าว

ส่วนที่ "นิด้าโพล" เปิดเผยผลสำรวจประชาชน เรื่อง วิกฤติเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตนั้น รัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็น เพราะถือว่าเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าโพลนี้จะเป็นตัวตัดสินว่ารัฐบาลควรจะเดินในทิศทางใด

อนึ่ง วานนี้ (28 ม.ค.) นิด้าโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 68.85% ระบุว่า ไม่โกรธเลย หากรัฐบาลจะตัดสินใจยกเลิกโครงการฯ โดยประชาชน 34.66% เห็นว่ารัฐบาลควรหยุดดำเนินโครงการนี้ และ 33.66% ให้ดำเนินโครงการนี้ต่อไปตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ