ธปท.พร้อมเปิดกว้างไลเซนส์ Virtual Bank ไม่จำกัดเพียง 3 ราย แต่ต้องไม่เสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 7, 2024 14:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธปท.พร้อมเปิดกว้างไลเซนส์ Virtual Bank ไม่จำกัดเพียง 3 ราย แต่ต้องไม่เสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน

น.ส.วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการพิจารณาใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ว่า หลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank นั้น ธปท. จะพิจารณาคำขออนุญาตโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจการเงินไทยโดยรวม และเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งในเบื้องต้นยังมองไว้ที่จำนวน 3 รายก่อน

แต่ทั้งนี้ หลังจากที่กระทรวงการคลังประกาศหลักเกณฑ์การจัดตั้ง Virtual Bank ล่าสุดออกมา ธปท. ก็จะต้องไปพิจารณารายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ตามประกาศดังกล่าว โดยคำนึงถึงจำนวนที่เหมาะสม สามารถกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันได้อย่างพอดี และไม่ก่อความเสี่ยงต่อระบบการเงินของประเทศในอนาคต

ธปท.พร้อมเปิดกว้างไลเซนส์ Virtual Bank ไม่จำกัดเพียง 3 ราย แต่ต้องไม่เสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน

สำหรับสิ่งสำคัญที่ ธปท.อยากเห็น (Green Line) จากการจัดตั้ง Virtual Bank คือ บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ หรือเพิ่มประสิทธิภาพของการบริการทางการเงินที่มีอยู่เดิมผ่านช่องทางดิจิทัล โดยจะต้องมีบริการทางการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะรายย่อย และ SMEs กลุ่ม unserved/underserved, สร้างประสบการณ์การใช้บริการทางการเงินดิจิทัลที่ดีแก่ลูกค้า รวมทั้งส่งเสริมและกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินอย่างเหมาะสม

"สิ่งที่เราต้องการเห็นจาก Virtual Bank คือ การให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ ที่แตกต่างไปจากธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ดี เพิ่มการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า SME และรายย่อย และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ลงได้ เราคาดหวังให้เค้ามาทำประโยชน์ในสิ่งเหล่านี้ เพราะการที่ Virtual Bank เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ไม่มีต้นทุนเรื่องสาขา และบุคลากร ซึ่งในระยะยาว ก็จะทำให้มีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไป และสิ่งนี้ ก็น่าจะส่งผลไปยังลูกค้าธนาคารได้ต่อไป" น.ส.วิภาวิน ระบุ

ส่วนสิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็น (Red Line) คือ การประกอบธุรกิจที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน หรือเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฝากเงิน-ผู้ใช้บริการทางการเงินในวงกว้าง เช่น การประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะหรือความมั่นคง, การประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ทำให้เกิดการแข่งขันในระบบการเงินอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และใช้อำนาจตลาดอย่างไม่เหมาะสม

โดยคุณลักษณะสำคัญที่แสดงถึงศักยภาพ และความสามารถที่จะประกอบธุรกิจ Virtual Bank ได้อย่างยั่งยืน ควรประกอบด้วย 7 ด้านดังนี้

1.ความสามารถในการดำเนินธุรกิจได้ตาม Green Line โดยไม่ให้เกิด Red Line

2.การเข้าถึง การบริหารจัดการ และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย

3.ความสามารถในการประกอบธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยี และให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล

4.การใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่น มั่นคง ปลอดภัย และให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

5.ความรู้ความสามารถและธรรมาภิบาลของผู้ขออนุญาต และผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ

6.ความสามารถในการบริหารความเสี่ยงธุรกิจการเงิน และ Risk Culture ที่ดี

7.ฐานะและการสนับสนุนทางการเงินของผู้ถือหุ้น

"กรณีการจะเข้ามาถือหุ้นของต่างชาติใน Virtual Bank นั้น เกณฑ์ปัจจุบันตั้งไว้ที่ 25% แต่ก็สามารถถือเกินกว่านั้นได้ ซึ่งได้ให้ไว้ไม่เกิน 49% แต่ทั้งนี้คงต้องดูองค์ประกอบ ตลอดจนคุณสมบัติอื่นๆ ของผู้ถือหุ้นด้วย หากจะมีการถือหุ้นเกินกว่าที่ตั้งไว้" น.ส.วิภาวิน ระบุ

น.ส.วิภาวิน กล่าวว่า ตัวอย่างการเปิด Virtual Bank ในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น บราซิล จีน และเกาหลีใต้ ซึ่งได้เข้ามาช่วยเสริมการให้บริการทางการเงิน และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้นจากธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบปกติ รวมทั้งเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ก่อนหน้านี้ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ เช่น กลุ่มลูกค้ารายย่อย ลูกค้า SME แต่ขณะเดียวกัน ก็ยอมรับว่ามีบางประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จในการเปิด Virtual Bank และต้องปิดตัวลง เช่น ออสเตรเลีย และอังกฤษ เนื่องจากมีการให้ใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank โดยไม่จำกัดจำนวน และมีผู้ประกอบการรายเล็กสามารถเปิด Virtual Bank ได้อาจจะไม่มีความมั่นคงในด้านฐานะการเงิน ไม่มีแผนรองรับในการดูแลลูกค้าเมื่อธุรกิจประสบปัญหา

สิ่งเหล่านี้ ธปท.คำนึงถึงและให้ความสำคัญ จึงได้นำมากำหนดไว้ในการพิจารณาการขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ในประเทศไทย ซึ่งผู้ยื่นขอใบอนุญาตจำเป็นต้องมี Exit Plan เพื่อเตรียมรองรับในการดูแลลูกค้า หากเกิดกรณีที่ไม่คาดคิด จนอาจถึงขั้นต้องปิดการให้บริการ

* จัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์ Virtual Bank 19 มี.ค.

ด้านนางสุจารี มนชน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับธุรกิจสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงขั้นตอนการยื่นขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ว่า ธปท. ได้เปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามายื่นเอกสารการขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ได้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.-19 ก.ย.67 รวมทั้งสิ้น 6 เดือน ซึ่งผู้ขออนุญาต จะต้องลงทะเบียนเพื่อขอใช้ช่องทางการยื่นคำขออนุญาต โดยต้องลงทะเบียนใช้งาน Digital Signature กับ TDID และลงทะเบียน BOT SecureNET กับ ธปท. เพื่อใช้ยื่นคำขอ และส่งเอกสารผ่านทางช่องทาง Microsoft Teams

โดยผู้ขออนุญาต จะต้องส่งเอกสารตามขั้นตอนที่ ธปท.กำหนด ซึ่งสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเอกสารประกอบการยื่นคำขออนุญาต ได้ที่เว็บไซต์ ธปท.

ทั้งนี้ หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอแล้ว จะเป็นขั้นตอนภายในของ ธปท.ในการพิจารณาเอกสาร และข้อมูลเพื่อคัดเลือกผู้ที่สมควรได้รับอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 9 เดือน จากนั้นจะส่งให้กระทรวงการคลัง จะพิจารณารายชื่อตามที่ ธปท.เสนอ และประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank

"คาดว่าประมาณกลางปีหน้า (ภายในมิ.ย.68) จะได้รู้ว่าใครจะได้จัดตั้ง Virtual Bank ซึ่ง ธปท.จะเสนอรายชื่อให้ รมว.คลัง ประกาศประมาณกลางปี 68 หรืออาจจะขยายเวลาออกไปได้ ถ้ามีความจำเป็น ซึ่งเป็นอำนาจของ รมว.คลัง แต่ต้องไม่เกิน 3 เดือน" นางสุจารี กล่าว

โดยหลังจากการประกาศรายชื่อผู้ได้รับอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank แล้ว ผู้ได้รับอนุญาต จะต้องไปเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ก่อนยื่นขอรับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank จากกระทรวงการคลัง และต้องเปิดให้บริการภายใน 1 ปี หลังจากได้รับใบอนุญาต แต่ทั้งนี้ หากมีเหตุที่ไม่สามารถทำได้เปิดได้ตามกำหนด ก็สามารถขอผ่อนผันเลื่อนเวลาออกไปได้ แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี หรือไม่เกินไปจากกลางปี 70

นางสุจารี ยังได้ประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมว่า ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ ธปท. จะจัดประชุมชี้แจงให้กับผู้สนใจที่จะเข้ามายื่นขอใบอนุญาตเปิด Virtual Bank ซึ่งจะมีการชี้แจงหลักเกณฑ์ และให้ข้อมูลอย่างละเอียด โดย ธปท.ได้เปิดให้ลงทะเบียนล่วงหน้าแล้วจนถึงวันที่ 13 มี.ค.67 และสามารถส่งคำถามเข้ามาล่วงหน้าได้ผ่านทางเว็บไซต์ ธปท.

ขณะเดียวกัน ธปท.จะจัดทำคู่มือประชาชน เพื่อให้รับทราบและทำความรู้จักกับ Virtual Bank ซึ่งคาดว่าจะจัดทำออกมาได้ในสัปดาห์หน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ