ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 36.65/66 จับตาตัวเลขจ้างงานสหรัฐ-รอลุ้นกนง.สัปดาห์หน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 5, 2024 17:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ระดับ 36.65/66 บาท/ดอลลาร์ จากเปิดเมื่อเช้าที่ ระดับ 36.78 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 36.66 - 36.83 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทในระดับที่ 36.83 บาท/ดอลลาร์ ยังเป็นระดับที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบประมาณ 5 เดือน (ต.ค. 66)

ปัจจัยเงินบาทส่วนใหญ่มาจากในประเทศ ที่นักลงทุนคาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 10 เม.ย. นี้ อาจมีการลดดอกเบี้ยได้ ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค

"ถ้ากนง. ลดดอกเบี้ยเงินบาทจะอ่อนค่าลงไปได้ แต่เงินบาทตอนนี้ Price In ไปก่อนแล้ว จากแรงกดดันของรัฐบาลว่า ดอกเบี้ยสูงไม่สอดคล้องกับเงินเฟ้อของไทยที่ติดลบอยู่ อย่างไรก็ดี ถ้าผลออกมาว่ากนง. ไม่ลดดอกเบี้ย มองว่าเงินบาทไม่ได้แข็งหรืออ่อน ค่ามาก เนื่องจากเงินบาทส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับดอลลาร์มากกว่า" นักบริหารเงิน กล่าว

สำหรับคืนนี้ ต้องรอติดตามตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมี.ค. ซึ่งตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 21,000-27,000 แสน ตำแหน่ง ซึ่งถ้าออกมาตามที่คาดการณ์ ทำให้ดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงในช่วงนั้นได้ แต่ถ้าออกมาสูงกว่าที่คาด ดอลลาร์จะกลับไปแข็งค่าได้

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันอังคารไว้ที่ 36.60 - 36.80 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ 151.39/40 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 150.98 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ 1.0840/0841 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0832 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ 1,375.58 จุด เพิ่มขึ้น 1.69 จุด (+0.12%) มูลค่าซื้อขาย 26,872.22 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 1,210.67 ล้านบาท
  • ปลัดกระทรวงการคลัง เชื่อว่าการเพิ่มการขาดดุลอีก 1.5 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2568 นั้น จะไม่ส่งผลกระทบ
กับการประเมินเครดิตเรตติ้งของประเทศไทย โดยมองว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ คงจะพิจารณาวัตถุประสงค์ว่ารัฐบาลนำเงินที่ได้
จากการขาดดุลเพิ่มไปใช้เพื่ออะไร และให้เกิดประโยชน์อย่างไร อีกทั้งคงดูแผนการใช้คืนจากรัฐบาลว่ามีความชัดเจนหรือไม่ หากรัฐบาลมี
คำตอบที่ดีกับเรื่องนี้ ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน
  • กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนมี.ค. 67 อยู่ที่ 107.25 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ
ทั่วไป ลดลง -0.47% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ใกล้เคียงตลาดคาดการณ์ -0.4% โดยยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ซึ่ง
เป็นผลมาจากการปรับลดลงของราคาสินค้าในหมวดอาหารสด เช่น เนื้อสุกร ผักสด เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีปริมาณมาก ประกอบกับฐาน
ราคาที่สูงในเดือนมี.ค. 66
  • Krungthai COMPASS ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2567 ที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ จะหนุนให้คณะกรรมการนโยบาย
การเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ลง 2 ครั้งติดต่อกัน สู่ระดับ 2.00% แม้อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า จะมีแนวโน้ม
กลับมาเป็นบวกในไตรมาสที่ 2 แต่คาดว่าทั้งปีเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ต่ำกว่า 1%
  • อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศสงกรานต์ในปีนี้คึกคักมากกว่าปีที่แล้ว ปัจจัยจากเมืองท่อง
เที่ยวเมืองหลักที่มีการจัดเทศกาลสงกรานต์ และนักท่องเที่ยวต่างชาติหนุน โดยคาดเม็ดเงินหมุนเวียนของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่าง
ชาติ ในช่วงสงกรานต์ 5 วัน จะมีมูลค่า 140,636.2 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.79%
  • เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ และฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้แสดงความเห็นว่า ความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะทำให้สถานะ
การคลังเข้าสู่ภาวะสมดุล (Fiscal Consolidation) นั้น อาจเผชิญกับอุปสรรค หลังจากคณะรัฐมนตรีของไทยมีมติเห็นชอบแผนการคลัง
ระยะปานกลาง โดยมีการปรับงบขาดดุลปีงบประมาณ 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 4.42% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)
จากระดับ 3.56% ของตัวเลข GDP
  • ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ให้เปิดเผยว่า BOJ อาจจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในช่วงครึ่งหลัง
ของปี 67 เนื่องจากคาดว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะอยู่ในทิศทางที่แข็งแกร่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ