ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ มี.ค.ฟื้น รับอานิสงส์ท่องเที่ยว-ส่งออกหนุน แนะรัฐเร่งเบิกจ่ายงบปี 67

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 11, 2024 10:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมี.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 92.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 90 ในเดือนก.พ. 67 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ยอดขายโดยรวม คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว สะท้อนจากความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าคงทน อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง และได้รับอานิสงส์จากมาตรการวีซ่าฟรีในช่วงที่ผ่านมา

ในด้านการส่งออกขยายตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อย่างสหรัฐฯ อินเดีย และออสเตรเลีย ขณะที่ในเดือนมี.ค. ผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าก่อนวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้รับผลดีจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งให้กับภาคธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังทรงตัวสูง ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด โดยแนวโน้มลูกหนี้ที่ไม่มีกำลังในการจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 3 เดือนเริ่มมีสัดส่วนมากขึ้นเป็น 3.6% นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนทางการเงิน และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น โดยพบว่ามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ จะใช้วิธีการโปะหนี้ไปมาจากบัตรเครดิตที่ถืออยู่นับ 10 ใบ ตลอดจนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ทำให้การส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่

"ดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งสัญญาณไปในทางที่ดี แต่มีหลายปัจจัยลบที่ยังเผชิญอยู่" นายเกรียงไกร กล่าว

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 100.0 ในเดือนก.พ. 67 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก

+ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ

+ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ในช่วงไตรมาสที่ 2/67

+ ภาคการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นตามการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก

แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่

  • ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น
  • มาตรการกีดกันทางการค้าที่ถูกนำมาใช้กับสินค้าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น อาทิ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป เป็นต้น

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่

1. เสนอให้ภาครัฐดำเนินการตามแผนงานเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2567 หลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ประกาศใช้ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุนต่อเนื่องที่ยังค้างชำระและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว

2. เสนอให้ภาครัฐเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าไทยทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ และสนับสนุน Soft Power รวมถึงการจัด Roadshow แสดงสินค้าในต่างประเทศ

3. ขอให้ภาครัฐดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออก รวมทั้งใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ