บอร์ดรฟท.ไฟเขียวรถไฟไทย-จีน เฟส 2 วงเงินกว่า 3.41 แสนลบ. เตรียมชงคมนาคม-ครม.ในปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 22, 2024 18:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท.จะเสนอโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) ระยะทาง 357.12 กม. รวมมูลค่าลงทุน 341,351.42 ล้านบาท หลังคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ได้มีมติอนุมัติเมื่อสัปดาห์ก่อน ให้กระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติภายในปี 2567 คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างงานโยธา 48 เดือน (หรือ 4 ปี) ก่อสร้างงานระบบรถไฟฟ้า 66 เดือน (หรือ 5 ปีครึ่ง) กำหนดเปิดให้บริการปี 2574

ปัจจุบัน โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย มีการออกแบบงานโยธาเสร็จเรียบร้อย โดยรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) อนุมัติ

สำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย แบ่งงานเป็น 2 ส่วน คือ

1.งานรถไฟความเร็วสูง วงเงินลงทุน 335,665.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 10,310.10 ล้านบาท, ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน235,129.40 ล้านบาท, ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 30,663.75 ล้านบาท, ค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 29,007.08 ล้านบาท, ค่าจัดหาขบวนรถไฟ วงเงิน 17,874.35 ล้านบาท ค่าจัดหาขบวนรถซ่อมบำรุงทาง วงเงิน 2,620.43 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 6,466.06 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟ วงเงิน 2,792.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 801.66 ล้านบาท

2.งานศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา วงเงินลงทุน 5,686.21 ล้านบาท ได้แก่ ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน วงเงิน 2,108.51 ล้านบาท ,ค่าก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 2,325.46 ล้านบาท ,ค่าลงทุนระบบราง วงเงิน 418.76 ล้านบาทค่าระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล วงเงิน 89.44 ล้านบาท, ค่าเครื่องมือ/อุปกรณ์ยกขนในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ 429.24 ล้านบาท, ค่าจัดหารถจักรในศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯ 210.00 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา วงเงิน 63.95 ล้านบาท, ค่าที่ปรึกษาบริหารโครงการและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างงานระบบรถไฟ วงเงิน 29.38 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ วงเงิน 11.47 ล้านบาท

โครงการรถไฟไทย-จีน เฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย แบ่งเป็นทางวิ่งยกระดับ (Elevated Structure) ระยะทาง 202.48 กม. ทางวิ่งระดับดิน 154.64 กม. (แบบคันทาง138.93 กม. เป็นสะพานรถไฟ 15.71 กม.) มี 5 สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่,สถานีบ้านไผ่, สถานีขอนแก่น, สถานีอุดรธานี, สถานีหนองคายมีหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ได้แก่ หน่วยซ่อมบำรุงบ้านมะค่า , หน่วยซ่อมบำรุงหนองเม็ก, หน่วยซ่อมบำรุงโนนสะอาด , หน่วยซ่อมบำรุงนาทา มีศูนย์ซ่อมบำรุง2 แห่ง คือ ศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย และมีย่านกองเก็บตู้สินค้าและย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่ง ที่นาทา

นายนิรุฒกล่าวว่า เบื้องต้นการก่อสร้างงานโยธาทั้งโครงการมูลค่าการลงทุน 341,351.42 ล้านบาท จะแบ่งงานออกเป็น 13 สัญญา โดยในส่วนของ การก่อสร้างแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 357.12 กม. วงเงิน 235,129.40 ล้านบาท แบ่งงานโยธาเป็น 11 สัญญา เฉลี่ยมูลค่าสัญญาละประมาณ 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างก่อสร้างที่มีคุณภาพ และการเข้าร่วมประมูลไม่มากราย หรือไม่น้อยรายจนเกินไป นอกจากนี้ ยังมีงาน ศูนย์ซ่อมบำรุงนาทา 1 สัญญา และศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย 1 สัญญา โดยจะใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e ? bidding) ตามระเบียบกรมบัญชีกลาง

*ไฟเขียวศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา ลงทุนรูปแบบ PPP

นอกจากนี้ บอร์ดรฟท.ยังเห็นชอบผลการศึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย (ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าฯนาทา) ตามมาตรา 22 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งเห็นว่าควรแยกการลงทุนออกมาดำเนินการในรูปแบบ PPP โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโครงการที่ช่วยขยายขีดความสามารถทางการขนส่งของจังหวัดหนองคาย ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีน

โดยหลังจาก บอร์ดรฟท. ให้ความเห็นชอบ จะนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(บอร์ด PPP) เห็นชอบหลักการและเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติเพื่อดำเนินการคัดลือกเอกชนร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571

สำหรับโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา และย่านกองเก็บตู้สินค้า เพื่อรองรับการขนส่งทางราง จ.หนองคาย ขนาดเนื้อที่ ใช้รูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าการร่วมลงทุน 7,211.94 ล้านบาท (การรถไฟฯลงทุน 6,560.03 ล้านบาท หรือ 90.96% เอกชนลงทุน 651.91 ล้านบาท หรือ 9.04%) ระยะเวลาร่วมลงทุน 20 ปี ประเมินค่าสัมปทานที่การรถไฟฯ ได้รับตลอดอายุโครงการ ที่4,457.07 ล้านบาท โดย การรถไฟฯ มีผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 5.87% เอกชน 15.09% มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) รฟท. ที่ 941 ล้านบาท เอกชน 32 ล้านบาท

คาดการณ์ปริมาณตู้สินค้าในปีแรกที่เปิดให้บริการ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 5.56 ล้านตัน หรือ 317,439 ทีอียู และเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ในปีที่ 20 เป็น 11.05 ล้านตันหรือประมาณ 631,237 ทีอียู


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ