รายงาน กนง.ชี้ดอกเบี้ยปัจจุบันยังเหมาะสม รองรับความผันผวนศก.-ค่าเงินได้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 24, 2024 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 10 เม.ย.67 ซึ่งที่ประชุม กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ระดับเดิมที่ 2.50% เนื่องจากคณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่ ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการส่งออก รวมทั้งผลของการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการดังกล่าวและพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว 2.6% ส่วนปี 2568 ขยายตัว 3.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) ภาคการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และค่าใช้จ่ายต่อคนที่อยู่ในทิศทางขยายตัว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในปี 67 จะอยู่ที่ 35.5 ล้านคน และปี 2568 อยู่ที่ 39.5 ล้านคน (2) การบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.5% แม้ชะลอลงจากอัตราการขยายตัวที่สูงในปี 2566 โดยการบริโภคหมวดบริการและการใช้จ่ายของกลุ่มรายได้สูง เป็นแรงสนับสนุนสำคัญ และ (3) การใช้จ่ายภาครัฐที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี หลังจากลดลงมากในช่วงก่อนหน้า ในขณะที่ภาคการส่งออกและการผลิต มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ามีความไม่แน่นอน จากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่อาจช้ากว่าคาด ปัญหาภาวะสินค้าล้นตลาดและปัจจัยเชิงโครงสร้างของไทย รวมถึงผลของการเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

คณะกรรมการฯ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นจากปีก่อน จากการบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐ ที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2567 มีผลบังคับใช้ในช่วงเม.ย.67 ซึ่งจะได้เห็นการเร่งเบิกจ่ายลงทุนของรัฐบาล ตลอดจนความพร้อมของหน่วยงานรัฐที่ได้เตรียมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตามมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายของกรมบัญชีกลาง

ขณะที่การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและภาคการผลิต ถูกกดดันจากปัจจัยต่างประเทศและปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยคาดว่าปีนี้ การส่งออกของไทย จะขยายตัวได้ 2.0% และปี 68 ขยายตัว 2.8% ด้านอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ คาดว่าอยู่ที่ 0.6% โดยยังอยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทาน และมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567 ขณะที่คาดว่าปี 68 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 0.9%

สำหรับภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว และไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม แต่มีธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่มและครัวเรือนรายได้น้อยยังต้องเผชิญกับภาวะการเงินตึงตัว รวมทั้งต้องติดตามความผันผวนของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวผันผวน โดยปรับอ่อนค่านำสกุลภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกอบกับปัจจัยด้านเศรษฐกิจการเงินในประเทศในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่คณะกรรมการฯ มีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเห็นความสำคัญของ debt deleveraging ที่ควรมีอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการฯ สนับสนุนนโยบายของ ธปท. ในการดำเนินมาตรการเฉพาะจุดผ่านสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

สำหรับประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการฯ ได้อภิปรายร่วมกัน

1. คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่โน้มต่ำลงหลังวิกฤตโควิด สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันศักยภาพเศรษฐกิจ

2. คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ จากแรงกดดันด้านอุปทานและมาตรการภาครัฐเป็นหลัก แต่จะทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในปลายปีนี้

3. คณะกรรมการฯ ตระหนักถึงภาวะการเงินตึงตัวขึ้นของธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่ม และครัวเรือนรายได้น้อย แต่ทั้งนี้ ภาวะการเงินไม่เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

4. คณะกรรมการฯ มีความกังวลเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูง และเห็นว่ากระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้(debt deleveraging) ควรมีอย่างต่อเนื่อง

5. คณะกรรมการฯ เห็นว่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ เคลื่อนไหวผันผวนสูง และอ่อนค่านำสกุลภูมิภาค โดยมีสาเหตุจากทั้งปัจจัยต่างประเทศ และปัจจัยภายในประเทศ

คณะกรรมการฯ ส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงเห็นว่านโยบายการเงิน มีประสิทธิผลจำกัดในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยพิจารณาว่า

(1) อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่โน้มต่ำลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ยังไม่ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจ (neutral interest rate) เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

(2) อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันเอื้อให้ debt deleveraging เกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง โดยเห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ช่วยลดภาระหนี้ในระยะสั้น แต่จะเสริมแรงจูงใจให้เกิดการก่อหนี้ใหม่เพิ่มเติม ส่งผลให้ยอดคงค้างหนี้ยิ่งสูงขึ้น ซึ่งเพิ่มความเปราะบางและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว

(3) อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบัน สามารถรองรับความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจ และความผันผวนของค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง

"คณะกรรมการฯ พร้อมที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากพัฒนาการเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของการส่งออก และการใช้จ่ายและมาตรการของภาครัฐเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งจะติดตามพัฒนาการดังกล่าว และพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า" รายงาน กนง.ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ