ดัชนี MPI มี.ค. หดตัว 5.13% หลังยอดผลิตรถยนต์ลดต่อเนื่อง-หนี้ครัวเรือนสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 30, 2024 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มี.ค.67 อยู่ที่ระดับ 104.06 ลดลง 5.13% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.67) ดัชนีฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 100.85 ลดลง 3.65%

ปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนี MPI ปรับตัวลดลง ได้แก่ ฐานที่สูงของค่าดัชนีฯ จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตยานยนต์ลดลงเป็นเดือนที่ 8 หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ยกเว้นภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา 9.37 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 44% ซึ่งคาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 35 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศ 3 ล้านล้านบาท

ขณะที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน มี.ค.67 อยู่ที่ 62.39% และช่วง 3 เดือนแรกปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 60.45%

"ดัชนีฯ เดือนมีนาคมเป็นไปตามคาด โดยยังคงอยู่ในแดนลบ แต่ดัชนีฯ ในเดือนหน้ามีโอกาสดีขึ้นในบางสาขา" นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าว

*อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีฯ ได้แก่
  • ยานยนต์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 22.63% จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก รถยนต์นั่งขนาดใหญ่ และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก ตามการหดตัวของตลาดในประเทศที่ลดลง 33.15% จากกำลังซื้อที่อ่อนแอและหนี้สินครัวเรือนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งสถาบันการเงินยังคงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อต่อไป ประกอบกับการส่งออกลดลง 9.33% จากรถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์ขนาดเล็ก หลังความต้องการสินค้าในประเทศคู่ค้า (ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย) ปรับตัวลดลง
  • น้ำตาล หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 25.26% จากผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายดิบ กากน้ำตาล และน้ำตาลทรายขาว เป็นหลัก เนื่องจากผลผลิตอ้อยสดในปีนี้มีน้อยกว่าปีก่อนจากปัญหาภัยแล้งฝนทิ้งช่วงทำให้พื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบบางพื้นที่ เกษตรกรหมุนเวียนไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ได้ราคาดีกว่า เช่น มันสำปะหลัง เป็นต้น
  • ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.33% จากผลิตภัณฑ์ Integrated circuits (IC) เป็นหลัก ตามการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อการบริโภคและลงทุน รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าที่กระทบต่ออุตสาหกรรม
*อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีฯ ได้แก่
  • ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.32% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องบิน ก๊าซหุงต้ม และแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นหลัก ตามความต้องการใช้ในการเดินทางที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ
  • สตาร์ช และผลิตภัณฑ์จากสตาร์ช (แป้งมันสำปะหลัง) ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 47.65% จากผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง เป็นหลัก ตามปริมาณหัวมันสดที่เข้าสู่โรงงานมากกว่าปีก่อน หลังปัญหาโรคใบด่างเริ่มลดลง ประกอบกับหัวมันสดราคาดีส่งผลให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก
  • อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.45% จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารสุกรสำเร็จรูป เป็นหลัก โดยอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวจากตลาดส่งออกตามความนิยมในการเลี้ยงสุนัขและแมว สำหรับอาหารสุกรเพิ่มขึ้นตามปริมาณหมูเลี้ยงจากเกษตรกรที่มีปริมาณมากกว่าปกติ
*จับตาราคาน้ำมันดีเซลกระทบต้นทุน

ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า ประเด็นที่ต้องจับตาคือการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซลทุกชนิด 0.50 บาทต่อลิตร ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.67 ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นเป็น 30.94 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ต้นทุนผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 7.93% การฟอกและย้อมผ้า 6.31% เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน 4.82% ปูนซีเมนต์ 4.43% ผลิตภัณฑ์จากโลหะ 4.01% แก้วและผลิตภัณฑ์แก้ว 2.74% เสื้อผ้าและสิ่งทอ 2.53%

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น อาจทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นกระทบค่าครองชีพของประชาชน และเกิดภาวะเงินเฟ้อ เนื่องจากภาวะราคาสินค้าโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น โดยทาง สศอ.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

"ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยน้อยกว่าเพื่อนบ้าน" นางวรวรรณ กล่าว

สำหรับระบบการเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาพรวมของไทยเดือน มี.ค.67 "ส่งสัญญาณเฝ้าระวัง" จากปัจจัยภายในประเทศหลังปริมาณการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบลดลง และส่งสัญญาณดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยต่างประเทศส่งสัญญาณฟื้นตัวระยะสั้นตามภาวะเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มฟื้นตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ