คมนาคม ชงร่างพ.ร.บ.SEC เข้าครม.พ.ค. เล็งเปิดประมูลแลนด์บริดจ์ปี 69

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 24, 2025 18:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คมนาคม ชงร่างพ.ร.บ.SEC เข้าครม.พ.ค. เล็งเปิดประมูลแลนด์บริดจ์ปี 69

นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระนอง ชุมพร และนครศรีธรรมราช ว่า ได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) เพื่อเชื่อมการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) และการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. .... ซึ่งทุกหน่วยงานที่เป็นองค์กรหลักร่วมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดของภาคใต้

ที่ผ่านมา สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.SEC มาแล้ว 3 จังหวัด คือ ระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช โดยสุราษฏร์ธานี เป็นเวทีสุดท้าย หลังจากรับฟังความเห็นตามขั้นตอน สนข.จะสรุปร่างพ.ร.บ. SEC โดยประมวลความเห็นต่าง มาปรับปรุงให้เหมาะสม จากนั้นจะมีการ ประชุมสรุปอีกครั้ง ที่กรุงเทพฯ และนำเสนอครม.ได้ภายในเดือนพ.ค. 68

และตามขั้นตอน คาดว่า จะเสนอร่างพ.ร.บ. SEC ต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ในการประชุมสามัญ ที่จะเปิดสมัยประชุมวันที่ 3 ก.ค. 68 ซึ่งจากที่ประเมินเวลา ผ่านเข้าสภาวาระ 1, 2 , 3 ประมาณเดือนก.ย.68 จากนั้นจะเสนอวุฒิสภา ใช้เวลาประมาณ อีกประมาณ 2 เดือน หรือในเดือนต.ค.-พ.ย. 68 จะแล้วเสร็จและนำร่างทูลเกล้าฯ เพื่อจัดตั้งสำนักงานSEC และคณะกรรมการ SEC ภายในปลายปี 68 เพื่อให้ดำเนินการประกาศประมูล PPP โครงการแลนด์บริดจ์ในปี 69

นางมนพร กล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นทั้งภาคราชการตัวแทนของภาคเอกชน สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาการท่องเที่ยว และ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ และร่างพ.ร.บ.SEC เพื่อเป็นกฎหมายบังคับใช้ โดยมีข้อเสนอแนะ เช่น เรื่องการบริหารจัดการที่จะมีภาคอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก คล้ายกับ EEC จึงเป็นห่วง เรื่องระบบบริหารจัดการน้ำที่อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งขณะนี้ที่จังหวัดชุมพรเอง จะต้องมีการหาแหล่งน้ำขนาดใหญ่

นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงเรื่องของการพัฒนาศักยภาพ และทักษะการทำงานของบุคลากร เป็นแรงงานฝีมือ เพื่อรองรับตำแหน่งงานที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ ทั้ง อุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่

รวมถึงห่วงใยการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากการบริหารงานจะเป็นรูปแบบองค์คณะที่มีผู้แทนมาจากหลายกระทรวง เพื่อพิจารณาอนุญาตแบบ One Stop Service ที่แท้จริง เพราะเดิมหากจะขอตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจะต้องมีองค์ประกอบการขออนุญาตจากหลายกระทรวง ที่มีความยุ่งยาก โดยเฉพาะชุมพรและระนองส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าไม้ การขออนุญาตใด ๆ ก็จะต้องมี หลายกระทรวงเกี่ยวข้อง จะสร้างความยุ่งยาก ให้นักลงทุน

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเรื่องของการขนส่งสินค้าที่มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องมีพื้นที่หลังท่าให้พร้อมสำหรับการทำธุรกิจ และเน้นธุรกิจสีเขียวหรือ Eco System นอกจากนี้มีความห่วงใย การตั้งโรงกลั่นน้ำมันและการส่งพลังงานที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเชื่อมั่นว่าการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้จะไม่สร้างมลพิษในพื้นที่ ซึ่งข้อเสนอแนะทุกเรื่องจะคุยรายละเอียดกันในการร่างพ.ร.บ.SEC อยู่แล้ว เพื่อร่วมกันการวางแผนระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว

สำหรับกรณีสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกา จะมีผลต่อโครงการแลนด์บริดจ์หรือไม่ นางมนพร กล่าวว่า มองว่าสถานการณ์นี้ มีความต้องการในเรื่องของการขนส่งที่ลดต้นทุนดังนั้นจึงมองว่าสถานการณ์ขณะนี้ยิ่งจะเป็นตัวกระตุ้นโครงการ เนื่องจากสายการเดินเรือและภาคการลงทุนทั้งหมดก็อยากมาลงทุน ที่ประเทศไทย ที่มีทำเลที่ช่วยในเรื่องของการประหยัดต้นทุน และ มั่นใจว่าจะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้โดยกระบวนการออกกฎหมายตั้งสำนักงานและเชิญชวนเอกชนมาลงทุน PPP โดยจะเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2570 และใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีแล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2573


*สนข.เตรียมจัดประมูลแลนด์บริดจ์เป็นแพคเกจ

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. ยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ.SEC มีความจำเป็น ไม่ได้รวบอำนาจใด ๆ แต่จะเป็นการรวมศูนย์หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่อนุมัติการลงทุน หรือออกใบอนุญาตต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน เพื่อความสะดวกในการดำเนินการของนักลงทุน และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการการออกกฎหมายเฉพาะ เพื่อให้มีคณะกรรมการฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้มีอำนาจในการอนุมัติหรืออนุญาต เฉพาะพื้นที่ 4 จังหวัด ภาคใต้

โครงการแลนด์บริดจ์ จะทำให้ประหยัดเวลาในการขนส่งสินค้าระหว่างฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ประมาณ 3 วัน เทียบกับการเดินเรืออ้อมผ่านช่องแคบมะละกา และประหยัดค่าใช้จ่ายต้นทุนในการขนส่งประมาณ 15% ซึ่งค่าขนส่งถูกลงก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าถูกลง ไปด้วย

นายปัญญา กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีท่าเรือขนส่งสินค้าไปฝั่งตะวันตก ดังนั้นแลนด์บริดจ์จะเป็นท่าเรือสำหรับรองรับสินค้าที่ผลิตจากพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตรที่มีค่อนข้างมากนำมาแปรรูปภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แทนที่จะส่งออกวัตถุดิบไปผลิตหรือแปรรูปที่ประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนการเปิดประมูล จะเป็นแพคเกจเดียว โดยระบุการพัฒนาเป็น 4 ระยะ โดยระยะแรกลงทุน 5 แสนล้านบาท ทั้งท่าเรือ มอเตอร์เวย์ รถไฟ ดังนั้น นักลงทุนหลายราย น่าจะร่วมกันแบบ Joint Venture เพราะหากให้แต่ละโครงการต่างคนต่างทำ และเสร็จไม่พร้อมกัน ก็จะไม่เป็นแลนด์บริดจ์

โดยที่ผ่านมา มีนักลงทุนที่สนใจหลายประเทศ เช่น ดูไบ เวิล์ด พอร์ต ,ประเทศจีน ,ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ,ออสเตรเลีย เป็นต้น



คมนาคม ชงร่างพ.ร.บ.SEC เข้าครม.พ.ค. เล็งเปิดประมูลแลนด์บริดจ์ปี 69

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ