ตลาดส่งออกไก่แปรรูปสดใสถึงปีหน้า ตลาดอียู-ญี่ปุ่นส่งออกรุ่ง ภาษีต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 24, 2008 12:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2551 การส่งออกไก่แปรรูปของไทยมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน และยิงยาวไปถึงปีหน้า โดยเฉพาะในตลาดสำคัญ ทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น รวมทั้งตลาดส่งออกอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ แคนาดา ฮ่องกง และเกาหลีใต้ และ คาดว่ายังมีโอกาสเจาะตลาดรัสเซียและตะวันออกกลาง
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในธุรกิจไก่เนื้อและผู้ส่งออกไก่แปรรูปต้องปรับตัว เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงไก่เนื้อมีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 การส่งออกไก่แปรรูปของไทยขยายตัวอย่างมาก โดยมีมูลค่า 530.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 69.1% จึงคาดว่าการส่งออกในปี 2551 จะมีมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปี 2550 มูลค่า 933 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.6%
ทั้งนี้ คาดว่าปริมาณการผลิตไก่เนื้อปี 2551 รวมทั้งประเทศมีประมาณ 900 ล้านตัว หรือประมาณ 1.13 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.23% จากปี 50 โดยปัจจุบันต้นทุนการเลี้ยงไก่อยู่ที่กิโลกรัมละ 36.75 บาท เพิ่มขึ้นจากต้นทุนเฉลี่ยในปี 2550 ที่กิโลกรัมละ 33.02 บาท หรือเพิ่มขึ้น 11.3%
ปัจจัยที่เอื้อให้ความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นของตลาดหลัก คือ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น มาจากจีนซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญในการ
ส่งออกไก่แปรรูปของไทยประสบปัญหาด้านภาพลักษณ์ด้านสุขอนามัย รวมทั้งการตรวจพบยาตกค้างในผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้นำเข้าหันมานำเข้าไก่แปรรูปจากไทยแทน
รวมทั้งไทยยังได้เปรียบคู่แข่งขันในเรื่องอัตราภาษีโดยในตลาดญี่ปุ่นไทยได้ลดภาษีนำเข้าตามข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ทำให้อัตราภาษีนำเข้าไก่แปรรูปจากไทยในปี 2551 ลดลงเหลือร้อยละ 5.0 และในปี 2552 คาดว่าจะยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหนุนสำคัญคือ อัตราภาษีนำเข้าไก่แปรรูปของไทยมีแนวโน้มลดลงตามกรอบ JTEPA ในปี 2552 ภาษีจะลดลงเหลือร้อยละ 4.5 และลงไปอยู่ในอัตราร้อยละ 3.0 ในปี 2555
ส่วนในตลาดสหภาพยุโรปไทยได้รับโควตาส่งออกในอัตราภาษีที่ต่ำ จะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกไก่แปรรูปของไทยไปสหภาพยุโรปขยายตัวมากอย่างต่อเนื่องในปี 2550-2552 โดยปีนี้ได้โควตาไก่แปรรูปได้รับจัดสรรในจำนวน 160,033 ตัน ที่อัตราภาษีร้อยละ 8 แต่ประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไป คือ ช่วงครึ่งหลังปี 2552 มีแนวโน้มว่าการส่งออกไก่แปรรูปของไทยจะเต็มโควตา และต้องเสียภาษีนอกโควตา ดังนั้นอัตราภาษีที่มีแนวโน้มสูงขึ้นน่าจะส่งผลให้การส่งออกไก่แปรรูปไปยังสหภาพยุโรปชะลอตัวลง
นอกจากนี้ โอกาสที่ไทยจะส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งมีสูง หลังจากไทยจัดทำระบบคอมพาร์ทเมนต์ เพื่อยกระดับฟาร์มสัตว์ปีกมาตรฐานให้มีระบบความปลอดภัยทางชีวภาพเป็นมาตรฐานเดียวกัน และรักษาสถานภาพปลอดโรคไข้หวัดนกในฟาร์มไก่เนื้อในเชิงธุรกิจ โดยมีจำนวนคอมพาร์ทเมนต์ที่ผ่านการรับรองแล้วจากโอไออีเข้ามาตรวจการเลี้ยงไก่ระบบคอมพาร์ทเมนท์ในไทยไปแล้วรอบแรก และพอใจในมาตรฐานและขอให้ไทยปรับปรุงอีกเล็กน้อย ก่อนที่จะเข้ามาตรวจอีกครั้งในราวเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2551 หากได้รับการรับรองมาตรฐานไทยก็จะกลับมาส่งออกไก่แช่แข็งได้อีกครั้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ