ศูนย์วิจัยกสิกรชี้กนง.ไม่เหลือทางเลือกต้องขึ้นดบ.ภายใต้ภาวะ Stagflation

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 3, 2008 12:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังประสบกับภาวะ Stagflation อย่างอ่อนๆ ซึ่งหมายถึงภาวะที่เศรษฐกิจเผชิญกับการเพิ่มสูงขึ้นของราคาสินค้าและบริการต่างๆ หรือเงินเฟ้อ (Inflation) ขณะเดียวกันก็ประสบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจหรือมีการว่างงานเพิ่มขึ้น(Stagnation) 
ดังนั้นการแก้ปัญหาหรือการดำเนินนโยบายของทางการในภาวะเช่นนี้ จำเป็นต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง และตระหนักถึงต้นทุนหรือผลกระทบที่จะตามมาจากการใช้นโยบายนั้นๆ
สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เนื่องจากภายใต้ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 10 ปีในเดือนมิ.ย.51 ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ทะลุกรอบบนของเป้าหมาย กนง.ในช่วง 0-3.5% มาที่ 3.6% และยังมีแนวโน้มจะปรับตัวเข้าหาระดับ 4.5-5.0% ในช่วงปลายปีนี้
ดังนั้น กนง.แทบจะไม่เหลือทางเลือกในการดำเนินนโยบายการเงิน นอกจากจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งแน่นอนว่าคงจะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญกับปัจจัยลบมากมาย และในที่สุดแล้ว กนง.คงจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปในระยะที่เหลือของปีนี้ เพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม ในขณะที่นโยบายการคลังผ่านการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการของภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัจจัยลบต่างๆ น่าที่จะช่วยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจไทยไม่ตกไปสู่ภาวะชะลอตัวที่รุนแรง
"กนง.คงไม่อาจจะหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการดังกล่าว เพราะจำเป็นต้องรักษาสมดุลความเสี่ยงและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตลาดการเงินและสาธารณชนให้มีความมั่นใจต่อเสถียรภาพทางด้านราคาในระยะข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการสร้างความไว้วางใจต่อการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ กนง.ด้วย" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ของไทยเดือน มิ.ย.51 อยู่ที่ 8.9% สูงสุดในรอบ 10 ปี และยังมีโอกาสจะแตะระดับเลข 2 หลักในบางเดือนของไตรมาส 3/51 โดยมีค่าเฉลี่ยทั้งปีนี้ที่ประมาณ 7.4-8.0% ตามประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สูงขึ้นมากจากค่าเฉลี่ยที่ 2.3% ในปี 50 ในขณะเดียวกันอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย(GDP)มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 51 เทียบกับไตรมาส 1/51 ที่ GDP โตถึง 6.0%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ