ธนาคารกลางอินเดียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 9% จากเดิมที่ระดับ 8.5% ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในรอบ 2 เดือน พร้อมกับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางแห่งอื่นๆในภูมิภาคเอเชียพยายามควบคุมเงินเฟ้อที่สูงขึ้นตามราคาอาหารและเชื้อเพลิง นอกเหนือจากการประกาศขึ้นดอกเบี้ยแล้ว นายโยกา เวนูโกปัล เรดดี ผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดียซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในเดือนก.ย. ได้ประกาศเพิ่มสัดส่วนสำรองสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เป็น 9% จากเดิมที่ 8.75% ด้วย ไรเตช จาอิน นักวิเคราะห์จากบริษัทพรินซิเพิล พีเอ็นบี แอสเซท แมเนจเมนท์ กล่าวว่า "ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางอินเดียจะไม่ใช้ครั้งสุดท้าย เนื่องจากต้นทุนการใช้จ่ายที่สูงขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 500 ล้านในอินเดียที่ยังชีพด้วยเงินไม่ถึง 2 ดอลลาร์ต่อวัน ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (พีพีไอ) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อ พุ่งขึ้นใกล้แตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี ซึ่งสร้างความกังวลให้กับนายกรัฐมนตรีมานโมฮาน ซิงห์ ที่เตรียมลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้นำอินเดียอีกสมัยในเดือนพ.ค.ปีหน้า" "อินเดียควรใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไป มีเพียงนโยบายนี้เท่านั้นที่จะรับมือกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อได้ในขณะนี้" นักวิเคราะห์กล่าว สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตัวเลขเงินเฟ้อในอินเดียพุ่งสูงขึ้นหลังจากรัฐบาลอินเดียประกาศลดภาษีนำเข้าน้ำมันพืช ผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า และน้ำมันเบนซิน โดยธนาคารกลางอินเดียได้ปรับเพิ่มคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้เป็น 7% จากเดิม 5-5.5%