นางกรรณิการ์ เอกเผ่าพันธุ์ ผอ.สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) จะเกิดขึ้นได้ภายในปี 53 หากเป็นไปตามแผนการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตาม ต้องได้รับการสนุบสนุนจากรัฐบาลและนายจ้างเพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น เนื่องจากกลุ่มลูกจ้างมีความต้องการผลักดันให้เกิดกองทุนนี้ขึ้นเพื่อใช้ยามเกษียณอายุและเป็นค่าใช้จ่าย โดยการตั้งจะมีทั้งส่วนของการบังคับให้หักการออมเพื่อเข้าเป็นสมาชิกกองทุน และ ตามความสมัครใจ
ที่ผ่านมามีนายจ้างหลายบริษัทที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไปจะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นเรื่องง่ายในการจัดการ
ในช่วง 5 ปีที่ผ่าน มูลค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งระบบเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ แนวคิดการจัดตั้ง กบช. เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว และมีความชัดเจนพร้อมที่จะดำเนินการได้จริงในเร็วนี้ กองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุภาคบังคับ ชั้นที่ 2 (Pillar 2) กำหนดการจ่ายเงินเข้ากองทุนของนายจ้างและลูกจ้าง มีบัญชีรายตัว สมาชิกจะได้รับผลประโยชน์ตามบัญชีของตน กองทุนมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างรายได้ในวัยสูงอายุให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐานไปตลอดอายุขัย
ความจำเป็นที่ต้องผลักดันให้เกิด กบช. โดยเร็ว เนื่องจากปัจจุบัน แรงงานส่วนใหญ่ซึ่งได้รับความคุ้มครองในกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพได้รับบำนาญเฉลี่ยร้อยละ 38 ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน รวมทั้งแรงงานที่ได้รับความคุ้มครองในปัจจุบัน มีเพียง 10.57 ล้านคน หรือร้อยละ 29.16 ของผู้มีงานทำเท่านั้น
หากจัดตั้ง กบช. ขึ้น โดยรวมแล้วจะก่อให้เกิดผลดีต่อแรงงาน รัฐบาล ตลาดทุน และเศรษฐกิจของประเทศ โดย กบช. นอกจากจะเป็นแหล่งรายได้ให้บุคคลเมื่อถึงวัยเกษียณ ซึ่งคาดว่าจะได้รับประมาณร้อยละ 17 ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายแล้ว ยังสามารถลดความเสี่ยงของประเทศจากวิกฤตของการสูงวัยของประชากรในอีก 25 ปีข้างหน้า
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/รัชดา/เสาวลักษณ์ โทร.0-2253-5050 ต่อ 353 อีเมล์:
[email protected]