รมช.พาณิชย์สั่งตร.-DSI โรยผักชีปราบมะเลิดลิขสิทธิ์ช่วง "บุช" เยือนไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 5, 2008 17:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ รมช.พาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ให้ช่วยดูแลไม่ให้มีสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งแผ่นซีดีหนัง, ซีดีเพลง, สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าแบรนด์ดัง และซอฟต์แวร์เถื่อน ในช่วงก่อนวันที่ 6 ส.ค.ที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯจะเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะมีการตรวจสอบเป็นพิเศษโดยเฉพาะพื้นที่สีแดงและสีเหลืองที่มีการขายสินค้าละเมิดจำนวนมาก ทั้งในห้างพันธุ์ทิพย์, มาบุญครอง, บ้านหม้อ, คลองถม, ตะวันนา, พัฒน์พงศ์, สุขุมวิท และสีลม เป็นต้น เพราะเกรงว่าหากสหรัฐฯ พบว่ายังมีสินค้าเถื่อนวางขายเกลื่อนอย่างเห็นเด่นชัด อาจทำให้สหรัฐฯ ยังคงจัดให้ไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ในการทบทวนสถานะประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญาปลายปีนี้
นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ภายในเดือนส.ค.นี้ สำนักงานตัวแทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) จะร่วมประชุมทางไกลผ่านดาวเทียม (วิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์) เพื่อหารือถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯในไทย หลังจากที่สหรัฐฯ จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่ม PWL ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา
โดยกรมฯ จะชี้แจงให้ทราบว่าไทยได้ดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องใดไปแล้วบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องที่สหรัฐฯ กังวลมาก ทั้งการละเมิดสัญญาณดาวเทียมและเคเบิลทีวี ซึ่งในปี 51 พบการละเมิดเพียงรายเดียวเท่านั้น ส่วนในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์หนังและเพลงนั้น เมื่อเร็วๆ นี้ นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่มี พ.ต.ท.บรรยิน เป็นประธาน โดยให้อำนาจกระทรวงพาณิชย์สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้การปัองกันและปราบปรามมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นางพวงรัตน์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างยื่นขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ในสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง เพราะเกรงว่าอาจมีชาวต่างชาตินำชื่อข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ข้าวของตนเอง และทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนในตัวสินค้าได้ ซึ่งตามขั้นตอนกฎหมายของอียูจะใช้เวลา 2 ปีในการจดทะเบียนนับจากวันรับคำขอ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ