"IEA"แนะทั่วโลกกำหนดมาตรการประหยัดน้ำมัน-ใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น

ข่าวต่างประเทศ Monday August 18, 2008 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโนบูโอะ ทานากะ ผู้อำนวยการบริหารของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ได้เรียกร้องให้กลุ่มประเทศผู้ใช้น้ำมันกำหนดมาตรการประหยัดพลังงานและกระตุ้นให้มีการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเตรียมรับมือกับวิกฤติพลังงานระลอกใหม่ นายทานากะ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ IEA ซึ่งมีดีกรีเป็นผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมประจำองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ได้จัดทำบทความที่ระบุถึงวิธีการรับมือกับวิกฤตน้ำมันระลอกใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะความผันผวนและการเกิดภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว โดยบทความดังกล่าวได้ท้าวความถึงการก่อตั้งสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศขึ้นอันสืบเนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงทางพลังงานในปี 2516 หลังจากที่เกิดวิกฤติพลังงานขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งได้กดดันให้สมาชิกดำเนินมาตรการเพื่อสร้างความมั่นใจว่าราคาน้ำมันจะไม่เผชิญภาวะผันผวนและไม่เกิดปัญหาด้านกำลังการผลิต ซึ่งหลังจากที่เราได้ผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าวมาแล้ว นายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์ของอังกฤษได้เตือนว่าทั่วโลกจะเผชิญภาวะวิกฤติด้านน้ำมันระลอกที่ 3 ซึ่งทาง IEA มองว่าวิกฤตการณ์ดังกล่าวถือเป็นสถานการณ์ที่สร้างภาระอันหนักหน่วงให้กับหลายประเทศเนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันมีสัดส่วนคิดเป็น 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ทั้งนี้ IEA มองว่า ราคาน้ำมันในปัจจุบันยังเป็นระดับสูงเกินไปสำหรับทุกประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศยากจน ขณะที่ภาวะเงินดอลลาร์แข็งค่าและปัจจัยทางการเมืองยังมีอิทธิพลต่อราคาน้ำมัน เช่นเดียวกันการเก็งกำไรที่มีส่วนขับเคลื่อนราคาน้ำมันด้วยเช่นเดียวกัน ปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันมีความแตกต่างไปจากในอดีตที่ผ่านมา พวกเรากำลังอยู่ในภาวะวิกฤติทางพลังงานที่เป็นผลจากอุปสงค์น้ำมันในสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศเบอร์หนึ่งของโลกด้านการใช้น้ำมัน ซึ่งขณะนี้ประเทศดังกล่าวมีความต้องการที่ลดลงทั้งในส่วนของภาคการขนส่งและยังมีตัวเลขการใช้จ่ายเพื่อซื้อหาน้ำมันดิบที่มีราคาสูงกว่าในอดีตลดลงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม รายงานภาวะตลาดน้ำมันในระยะกลางของ IEA ได้สรุปไว้ในตอนท้ายว่า ระดับของกำลังการผลิตน้ำมันสำรองจะกระเตื้องขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าก่อนที่จะปรับตัวลดลงภายในปี 2558 ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำคือการดำเนินนโยบายกระตุ้นปัจจัยพื้นฐานทั้งในระยะสั้นและระยะยาวโดยผู้ผลิตต้องเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อป้อนสู่ตลาดโลก และกระตุ้นกำลังการผลิตมากขึ้น ขณะที่ผู้ใช้เองก็ต้องคำนึงถึงการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าการใช้มาตรการเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาสักระยะกว่าที่จะเห็นผล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ