(เพิ่มเติม) ธปท.ชี้ใช้นโยบายการเงินตึงตัวได้ เพราะขณะนี้ดอกเบี้ยแท้จริงยังติดลบ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 21, 2008 11:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายนพดล บูรณะธนัง ผู้บริหารส่วนวิเคราะห์เศรษฐกิจด้านอุปทาน ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)มองว่า ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในประเทศยังติดลบ ทำให้ยังมีช่องทางที่จะสามารถใช้การดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวเพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อได้ แต่แนวทางการปรับอัตราดอกเบี้ยควรจะเป็นการทยอยปรับ ซึ่งอาจจะปรับขึ้นไปได้ไม่มากนัก เนื่องจากต้องระวังไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
"หากเทียบดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับประเทศอื่นๆ แล้ว ของไทยยังมีดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำกว่าประเทศอื่น และดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบ แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป นโยบายการเงินยังคงตึงตัวได้บ้าง แต่อาจปรับขึ้นได้ไม่มาก และเป็นการทยอยปรับ เพราะต้องดูแลไม่ให้กระทบการขยายตัวทางเศรษฐกิจ" นายนพดล กล่าวในหัวข้อ"วิเคราะห์ภาพรวมเศรษฐกิจ ทิศทางเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และสภาพคล่องของผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์"ในงานสัมมนา"อสังหาฯ ฝ่ากระแสเศรษฐกิจ"
อัตราดอกเบี้ยถือเป็นต้นทุนทางการเงิน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนไม่มากนักในต้นทุนการผลิตของภาคเอกชน และจากการสำรวจความเห็นของเจ้าหน้าที่บริหารสินเชื่อมองว่าอัตราดอกเบี้ยไม่ได้กระทบต่อความต้องการสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากการใช้นโยบายการเงินเพื่อดูและเงินเฟ้อให้เป็นไปตามคาดการณ์ไว้แล้ว จะต้องดูแลไม่ให้กระทบต่อ Imbalance ในภาคการออมด้วย
"ดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ลดต่ำมาก ทำให้ผู้ฝากเงินย้ายเงินฝากจากแบงก์พาณิชย์ ไปลงทุนทางเลือกอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า" นายนพดล กล่าว
พร้อมระบุว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันด้านดอกเบี้ยกันมากขึ้น หลังผู้ฝากเงินย้ายฐานเงินฝาก ซึ่งมีส่วนทำให้สภาพคล่องของแบงก์ตึงตัวบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับขาดสภาพคล่อง
นายนพดล ยังวิเคราะห์ถึงภาพรวมเศรษฐกิจและทิศทางเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และสภาพคล่องของผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1/51 ที่เติบโตได้ 6% มีแรงส่งจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ และการส่งออกที่เติบโตได้ดี
ส่วนไตรมาส 2/51 เชื่อว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ แต่อาจชะลอลงบ้าง ขณะที่ครึ่งปีหลังมองว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ แต่อาจช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความไม่แน่นอนเรื่องการเมือง ซึ่งกระทบความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคเริ่มแผ่วลง ซึ่งเป็นผลมาจากเงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูง แต่การที่รัฐบาลออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้น และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังได้
ขณะที่การลงทุนภาครัฐช่วงครึ่งปีหลัง เริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของต้นทุน ส่วนการส่งออกยังมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีสัญญาณการชะลอตัว และแม้เงินบาทที่อ่อนค่าลงที่มองว่าจะเอื้อต่อการส่งออกได้นั้น แต่เงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขัน เพราะทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น
นายนพดล มองว่า ทิศทางของอัตราเงินเฟ้อในระยะ 1 ปีข้างหน้า คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากผลสำรวจของ ธปท.พบว่า ผู้ประกอบการภาคเอกชนยังมองว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะ 12 เดือนน่าจะอยู่เหนือกว่าระดับ 6%
ทั้งนี้ ธปท.คาดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) ในปีนี้จะอยู่ในช่วง 2.8-3.8% ซึ่งเป็นระดับที่ยังไม่ได้ประเมินผลกระทบจากมาตรการ 6 เดือน ของภาครัฐที่อาจทำให้แรงกดดันของเงินเฟ้อลดลง ส่วนปี 52 คาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะอยู่ในช่วง 3-4% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไป(CPI) ปีนี้คาดว่าอยู่ที่ 7.5-8.8% ส่วนปี 52 อยู่ที่ 5-7.5%
สำหรับ GDP ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 4.8-5.8% และปี 52 จะอยู่ที่ 4.3-5.8%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ