สศอ.เผยวิกฤตการเงินโลก-การเมืองฉุดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม Q3/51 ชะลอตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 3, 2008 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ก.ย.51 ที่ผ่านมาขยายตัวเพียง 2.95% เทียบกับ ก.ย.50 โดยมีแนวโน้มลดลงในไตรมาสที่ 3/51 ซึ่งมีอัตราการขยายตัว 6.1% ลดลงจากอัตราการขยายตัวของปีก่อน 11.6% และ 9.4% ในไตรมาสที่ 1/51 และที่ 2/51 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ 186.17 เพิ่มขึ้น 2.95%, ดัชนีผลิต (มูลค่าผลผลิต) อยู่ที่ 187.21 เพิ่มขึ้น 1.58% ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ 187.99 เพิ่มขึ้น 1.41% จาก 185.36 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ 210.86 เพิ่มขึ้น 13.45% ดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ 365.20 เพิ่มขึ้น 74.53% ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 117.34 เพิ่มขึ้น 2.64% ดัชนีผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ 137.77 ลดลง 0.55% ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 61.38%

ปัจจัยที่ทำให้เกิดผลกระทบดังกล่าวมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความผันผวนทางการเมืองก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีอุตสาหกรรมขยายตัวลดลง ซึ่งอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรวม ได้แก่ ปิโตรเลียม เครื่องประดับเพชรพลอย อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ปูนซีเมนต์ เหล็ก

สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในเดือนก.ย. พบว่าการผลิตมีปริมาณลดลงมากถึง 21% ขณะที่การจำหน่ายลดลง 20% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับ ก.ย.50 ส่งผลต่อระดับราคาขายปลีก เมื่อเปรียบเทียบราคาขายปลีกเฉลี่ย พบว่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็วมีราคาสูงกว่าปีก่อน 3.4 บาทต่อลิตร และ น้ำมันเบนซินออกเทน 91 มีราคาสูงกว่าปีก่อน 6 บาทต่อลิตร

ขณะที่เครื่องประดับเพชรพลอย การผลิตและการจำหน่ายมีทิศทางลดลง 23.7% และ 35.2% เป็นผลจากตลาดส่งออกสำคัญ คือสหรัฐมีภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวตั้งแต่ต้นปี ตามมาด้วยวิกฤตปัญหาราคาน้ำมันแพง และล่าสุดวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ ทำให้สินค้ากลุ่มนี้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ผู้บริโภคต้องรัดเข็มขัด ยอดขายจึงลดลงค่อนข้างชัดเจน นอกจากนี้ปัจจัยความผันผวนของราคาทองคำ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น จึงเป็นเหตุให้สินค้าในกลุ่มนี้ซบเซา

ส่วนอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง การผลิตและการจำหน่าย ลดลงจากปีก่อน 7.4% และ 8.9% ตามลำดับ เป็นผลจากการลดลงของสินค้ากุ้งแช่แข็งที่ในปีก่อนสามารถผลิตและจำหน่ายได้มากกว่าปัจจุบัน ส่วนสินค้าปลาซาร์ดีนกระป๋องมีปัญหาเรื่องขาดแคลนวัตถุดิบมากกว่าปีก่อน

การผลิตปูนซีเมนต์ ภาวการณ์ผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ปรับตัวลดลง 16.3% และ 15.6% ตามลำดับ โดยเป็นการลดลงในทุกผลิตภัณฑ์จากสภาพเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในสภาวะชะลอตัว การลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐที่ล่าช้า อันเนื่องจากความผันผวนทางการเมือง ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์อยู่ในสภาวะชะลอตัว

สำหรับการผลิตเหล็ก จากการคำนวณสัดส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลังต่อการจำหน่ายในผลิตภัณฑ์เหล็กเทียบกับราคาวัตถุดิบกึ่งสำเร็จ พบว่าระดับสินค้าสำเร็จรูปคงคลังในมือผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ทรงยาวที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการใช้ในประเทศที่ชะลอลงมาก่อนแล้ว และคาดว่าระดับราคาวัตถุดิบที่ลดลงอย่างรวดเร็วทำให้พ่อค้าคนกลางและผู้ใช้ต่างลดการสั่งซื้อและใช้สต๊อกในมือให้เหลือน้อยลงก่อนที่จะทำการสั่งซื้อใหม่ คาดว่าทำให้ภาวการณ์ผลิตและจำหน่ายในประเทศในช่วงที่เหลือของปีมีทิศทางที่ลดลงต่อไป หรือจนกว่าราคาเหล็กจะมีเสถียรภาพมากขึ้น

นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะชะลอตัว จากปัจจัยลบทั้งภายในและนอกประเทศ แต่ยังมีอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนให้ภาพรวมดัชนีอุตสาหกรรมขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะขยายตัวในอัตราที่ลดลงบ้าง ก็คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์(Hard Disk Drive) เสื้อผ้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมยานยนต์ และ อุตสาหกรรมแปรรูปผักและผลไม้

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ผู้ประกอบการไทยมีพื้นฐานที่เข้มแข็ง ดังนั้น ขอให้อย่าตื่นตระหนกกับวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น แต่ให้นำมาเป็นโอกาสในการปรับปรุงประสิทธิภาพการประกอบการและพัฒนาทักษะของบุคลากรให้เข้มแข็ง พร้อมสู้กับทุกปัญหาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ