เอกชนชี้ศก.ไทยปี 52 หนีไม่พ้นผลวิกฤติการเงินโลกแม้พื้นฐานแข็งแกร่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 4, 2008 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บล.ภัทร (PHATAR) กล่าวในการสัมมนา"มองวิกฤติ...เพื่อโอกาส?"ว่า ไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจดีที่สุดในโลก ท่ามกลางการเกิดวิกฤติการเงินโลกขณะนี้ เห็นได้จากดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ระดับสูง ภาระหนี้สาธารณะอยู่ที่แค่ 38%ของจีดีพี และระบบสถาบันการเงินไทยมีความแข็งแรง

ทั้งนี้ PHATAR มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 52 จะเติบโตราว 3.3% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% จากปี 51 ที่คาดว่าเงินเฟ้ออยู่ที่ 7-8% แต่มองว่าปัญหาใหญ่ของไทยเกิดจากความแตกแยกในสังคม ซึ่งบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจ

"ภาวะเศรษฐกิจของเรา ค่อนข้างดีที่สุดในโลก แต่เราอยู่ในภาวะที่มีมรสุม ก็ต้องเจอผลกระทบบ้าง เพราะเราพึ่งพาการส่งออกมาถึง 70%... แต่ปัญหาที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด คือ ปัญหาความแตกแยกในสังคม ผมไม่เรียกว่าปัญหาการเมือง เพราะเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก ซึ่งปัญหานี้ต้องให้มีการประนีประนอม ถึงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เชื่อว่าจะไม่มีการยุติ" นายบรรยง กล่าว

นอกจากนี้ปัญหาของไทย ยังเกิดจากการที่ภาคเอกชนไทยมีการลงทุนในระดับต่ำต่อเนื่องมานาน 5-6 ปี คิดเป็นการลงทุนเพียง 20-24% ของจีดีพี จากก่อนหน้านี้ที่เคยมีการลงทุนสูงถึง 32% ของจีดีพี และยังเชื่อว่าการลงทุนภาคเอกชนจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อไป

อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤติการเงินโลกครั้งนี้ แม้จะยังไม่นิ่ง แต่เชื่อว่าหลายประเทศได้เตรียมมาตรการรับมือไว้พร้อมแล้ว ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น เพราะแม้แต่ไทยก็ยังตั้งวงเงินรองรับปัญหาไว้ถึง 1 แสนล้านบาท และเชื่อว่าทุกวิกฤติต้องมีโอกาส เช่นโอกาสที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยเข้ากับเศรษฐกิจโลก

ด้านนายสันติ วิลาศศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปี 52 ภาคอุตสาหกรรมไทยจะเข้าสู่ภาวะยากลำบาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและพลาสติก รวมถึงภาคการส่งออก เนื่องจากไทยยังมีตลาดหลักในสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น สัดส่วนสูงถึง 30-40%ของการส่งออกทั้งหมด ที่เหลือเป็นตลาดเอเซีย และจีน

อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีโอกาสขยายตลาดส่งออกสินค้าในอาเซียนมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีสัดส่วนส่งออกเพียง 20% และเห็นว่าเป็นโอกาสของภาคธุรกิจที่จะทำการตลาดเชิงรุก โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกที่ไทยสามารถทดแทนตลาดจีนที่มีปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้าอาหาร ส่วนธุรกิจท่องเที่ยว มองว่าไม่ควรพึ่งพาภาครัฐมากเกินไป แต่ควรมีเป้าหมายเชิงรุกมากขึ้น และควรใช้ประโยชน์จากการทำ FTA ที่ทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆ

นายสันติ ยังมองว่า สภาพคล่องในระบบเริ่มมีปัญหา โดยเฉพาะธุรกิจ SME และปี 52 คาดว่าจะมีปัญหาว่างงานถึง 1 ล้านคน เป็นบัณฑิตจบใหม่ 4-5 แสนคน

ด้านนายสุรพล ว่องวัฒนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สุรพลฟู๊ดส์ (SSF) เปิดเผยว่ารัฐบาล ควรสร้างความชัดเจนในการดำเนินนโยบายการเงินทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย รวมถึง ควรสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าว เนื่องจากปัจจุบันแรงงานไทยมีจำนวนในตลาดน้อยลง และเห็นว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ควรเปลี่ยนบทบาท มาเป็นผู้นำพานักธุรกิจไปประเทศที่ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้นักธุรกิจไทยมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ