เศรษฐกิจออสเตรเลียมีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี หลังจากที่เคยผ่านช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียในปี 2540 เนื่องจากอุปสงค์สินค้าโภคภัณฑ์ที่ซบเซาได้ส่งผลกระทบต่อรายได้การส่งออกที่แข็งแกร่งมาตลอด 5 ปีที่ช่วยกระตุ้นรายได้ในประเทศมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี
นายเวย์น สวอน รัฐมนตรีคลังออสเตรเลียกล่าวว่า ออสเตรเลียอาจได้รับผลกระทบหนักกว่าที่คาดคิดไว้ เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจซบเซาขยายวงกว้างไปยังกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ล้วนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของออสเตรเลีย ดังนั้น บรรยากาศทางเศรษฐกิจของจีนจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะชี้ชะตาว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียจะหดตัวลงหรือไม่ เพราะจีนเป็นตลาดส่งออกที่เติบโตเร็วที่สุดของประเทศ
ในวันนี้ บริษัท National Australia Bank Ltd. ได้เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจดิ่งลง 21 จุดจากเดือนก.ย.มาอยู่ที่ระดับติดลบ 29 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจในปี 2532 โดยนายอลัน ออสเตอร์ นักวิเคราะห์จาก National Australia ในเมลเบิร์นให้เหตุผลว่า "บรรยากาศทางธุรกิจถูกกระแสความหวั่นวิตกครอบงำอยู่มาก ขณะที่มุมมองในแง่บวกด้านธุรกิจถูกบดบังจากสถานการณ์ความผันผวนในตลาดหุ้น การใช้มาตรการทางการเงินที่เร่งด่วน ภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ ตลอดจนการหารือเรื่องภาวะถดถอยทั่วโลกที่มีขึ้นเรื่อยๆ"
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ณ เวลา 11:46 น. ตามเวลาท้องถิ่น ดัชนี S&P/ASX 200 ตลาดหุ้นออสเตรเลียร่วงลง 4.4% และในปีนี้ดัชนีดิ่งลงไปแล้ว 38% ขณะที่เงินดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลง 4.1% แตะที่ 66.56 เซนต์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับ 69.40 เซนต์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลียเมื่อวานนี้
ขณะเดียวกันนายเกลน สตีเว่นส์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลียได้รับมือกับวิกฤตการณ์ครั้งนี้ด้วยการกระหน่ำลดดอกเบี้ยลงถึง 2.00% ภายในเวลาเพียง 9 สัปดาห์มาอยู่ที่ระดับ 5.25% ส่วนนายกรัฐมนตรีเควิน รัดด์ได้ประกาศแผนอัดฉีดเงิน 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย
ทั้งนี้ ธนาคารกลางออสเตรเลียได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 1.5% จากระดับคาดการณ์เมื่อเดือนส.ค.ที่ 2% ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกที่ระดับ 2.2% ในปีหน้า