(เพิ่มเติม) ผู้ว่า ธปท.เผยสภาพคล่องไร้ปัญหา ห่วงส่งออก-ท่องเที่ยวชะลอกระทบจ้างงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 25, 2008 18:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาวิกฤติการเงินโลก โดยสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินมีสูงถึง 1.5 ล้านล้านบาท แต่ยอมรับว่าสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ตึงตัวบ้างเล็กน้อย เนื่องจากเงินฝากขยายตัวช้ากว่าสินเชื่อ

สำหรับภาพรวมภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือแนวโน้มการส่งออกและการท่องเที่ยวชะลอตัว ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการจ้างงานในอนาคต แต่ก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งเพียงพอ ไม่เปราะบางเหมือนเมื่อครั้งเกิดวิกฤติในปี 40

"สภาพคล่องไม่ได้เป็นประเด็นที่น่ากังวล แต่เป็นผลกระทบทางอ้อม แต่ว่าสิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ ภาคการส่งออกเพราะ 2-3 ปีที่ผ่านเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก"ผู้ว่า ธปท. กล่าวในการสัมมนา"นโยบายการบริหารจัดการเศรษฐกิจภาพรวมของไทยภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย"

นางธาริษา มองว่า จากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เศรษฐกิจโลกปี 52 จะมีอัตราขยายตัว 1.1%ขณะที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3.2% ซึ่งภาคการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบ แม้ว่าการส่งออกในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาจะขยายตัวได้ดี แต่เริ่มมีสัญญาณที่ชะลอตัวลงในหลายตลาด อาทิ อาเซียน ฮ่องกงและจีน และมองว่าสินค้าทุนและวัตถุดิบจะได้รับผลกระทบมาก ซึ่งธปท.จะติดตามข้อมูลใกล้ชิดต่อไป

ผลกระทบอีกด้านของไทย คือ ด้านการท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่องเท่ากับช่วงเกิดหลังเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย

ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับภาคการส่งออกและท่องเที่ยวน่ากังวลและน่าหดหู่ และอาจกระทบการจ้างงานในอนาคตได้ แต่ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในสถานะเปราะบางเหมือนในอดีต และการดำเนินนโยบายมหภาคมีความยืดหยุ่นมากขึ้น พื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในะระดับสูงถึง 4 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น สามารถรองรับความผันผวนของเงินทุนไหลเข้าออกได้

ขณะที่เสถียรภาพภายในโดยเฉพาะด้านราคาปรับตัวดีขึ้นมาก โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่ปรับลดต่ำลงเหลือ 3.9% ในเดือนต.ค. ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2-1.3% ถือว่าต่ำที่สุดในโลก นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่ลดลงอาจทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้จ่ายมากขึ้น และจากการที่ประเทศต่างๆมีความร่วมมือกันดีมาก ทั้งธนาคารกลางและกระทรวงการคลังมีการออกมาตรการมารองรับอย่างราบรื่น

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า เมื่อดูจากหนี้ภาคครัวเรือนปรับลดลง เงินออมต่อครัวออมปรับสูงขึ้น หนี้ภาคธุรกิจน้อยลงจากที่เคยอยู่ 2-3 เท่าในปี 40 ปัจจุบันอยู่ที่ 0.9 เท่า หนี้สาธารณะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ 36% ของจีดีพี จึงยังมีพื้นที่ที่จะใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ หากจำเป็น

ดังนั้น แนวทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจเมื่อน้ำมันไม่ได้เป็นปัจจัยลบแล้ว แต่จากความไม่แน่นนอนทางการเมืองทำให้การกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศทำได้ยาก ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรลดลงทำให้รายได้ภาคเกษตรลดลงไปด้วย ดังนั้นการดูแลเศรษฐกิจต้องใช้ทั้งนโยบายการเงินและการคลังควบคู่กัน

นอกจากนี้ การผสมผสานโดยใช้นโยบาย Macro-Prudential Policy เพื่อดูแล financial imbalance 7 ด้าน คือ ภาคต่างประเทศ, ภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน, ภาครัฐบาล, ภาคครัวเรือน, ภาคอสังหาริมทรัพย์, ภาคตลาดเงิน และภาคสถาบันการเงิน โดยที่ทั้ง 7 ด้านเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางประเทศต่างต้องให้ความสนใจมากขึ้น



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ