วงการการเงินคาด กนง.วันนี้มีโอกาสลดดอกเบี้ย 0.5% ฟื้นเชื่อมั่นที่ทรุดหนัก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 3, 2008 09:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้จัดการฝ่ายการเงิน การธนาคาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า มีความเป็นไปได้มากที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)บ่ายวันนี้จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.50% เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันโดยเฉพาะปัจจัยด้านการเมืองค่อนข้างจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

"ความเป็นไปได้ตอนนี้น่าจะเอียงมาทาง 0.50% มากขึ้น ภาคธุรกิจตอนนี้ไม่ค่อยเชื่อมั่น และสถานการณ์ทางเครดิตของตลาดโลกเองก็มีผลกระทบ ถ้าลด 0.25% แล้วแบงก์ยังนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากอยู่ มันอาจไม่ทำให้ดอกเบี้ยตัวอื่นของแบงก์ลดลงตาม ดังนั้นเพื่อให้กลไกตรงนี้ส่งผ่านไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงคงต้องเป็นไซด์ที่ค่อนข้างใหญ่ แต่ไม่แน่ใจว่าจะมากกว่านี้หรือไม่ ต้องอยู่ที่การประเมินของ กนง."น.ส.เกวลิน กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า กนง.คงจะไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้มากตามที่ภาคเอกชนเสนอมาให้ลดถึง 1.0% เพราะก่อนหน้านี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เคยออกมาระบุแล้วว่าประสิทธิผลของการใช้นโยบายการเงินด้วยการลดดอกเบี้ยลงคราวละมากๆ อาจจะไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจได้เท่าที่หลายฝ่ายหวัง

ผู้จัดการฝ่ายการเงิน การธนาคาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเมื่อ กนง.ไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้คราวละมาก ก็คงต้องส่งสัญญาณออกไปว่าพร้อมที่จะดำเนินการลดดอกเบี้ยในครั้งหน้าอีก หรือแม้แต่การส่งสัญญาณถึงความพร้อมที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนภาคการเงินในด้านต่างๆ ประกอบกันไม่ว่าจะเป็นนโยบายดอกเบี้ย การจัดหาสภาพคล่อง การเรียกความเชื่อมั่นในแง่ของการสนับสนุนสถาบันการเงิน การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

"จากรายงานในสัปดาห์ที่ก่อนจะเกิดเหตุการณ์(ปิดสนามบิน)เราคาดการณ์ไว้ที่ 0.25-0.50% แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้น่าจะเอียงมาทาง 0.50% แต่ถ้าจะให้ไปถึง 1% ตามที่ภาคเอกชนเสนอคงจะลำบาก อย่างที่ผู้ว่าฯ ธปท.เคยพูดไว้ว่า การลดดอกเบี้ยแรงอาจไม่ได้ช่วยมาก เพราะไม่งั้นจะไม่เหลือช่องทางที่จะทำในอนาคต แต่คงจะส่งสัญญาณไปว่าพร้อมจะทำอีกในอนาคต ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจยังออกมาไม่ค่อยดี" น.ส.เกวลิน กล่าว

นอกจากนี้ยังมองว่า อัตราดอกเบี้ยยังมีโอกาสจะลดลงได้ต่อเนื่องจนถึงกลางปี 52 โดยแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยยังจะเป็นการลดต่อเนื่องและเข้าสู่ระดับ 3% หรืออาจต่ำกว่านั้น เพราะแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อได้ลดลงค่อนข้างมาก ล่าสุดเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ย.51อยู่ที่ 2.2% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที 2.0% ประกอบกับราคาน้ำมันลดลงไปเยอะพอสมควร ซึ่งเป็นการเอื้อให้ ธปท.มีช่องที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีก ซึ่งอาจจะยืนเหนือระดับเงินเฟ้อ

ขณะที่ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงเทพ คาดการณ์ว่า กนง.อาจจะประกาศลดดอกเบี้ยเพียง 0.25% จากเดิมที่คาดไว้ 0.50% เนื่องจาก ธปท.ได้ชี้แจงว่าการใช้นโยบายการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะไม่ได้ผลในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองมีปัญหา เพราะอัตราดอกเบี้ยจะช่วยแค่ลดต้นทุนธุรกิจและกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเท่านั้น ซึ่งจะไม่ได้ผลเท่านโยบายการคลัง

แต่ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ ธปท.คงต้องมีการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยเพื่อมาดูแลเศรษฐกิจ เนื่องจากนโยบายการคลังทำหน้าที่อยู่แล้ว ดังนั้น กนง.คงต้องตัดสินใจจากข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ

"ตอนนี้ความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อลดลงไปแล้ว ดังนั้น นโยบายดอกเบี้ยคงต้องหันมาคำนึงถึงการดูแลเศรษฐกิจที่กำลังทรุดตัว ส่วนจะลดดอกเบี้ยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ กนง.ซึ่งมีข้อมูลที่มากที่สุด ส่วนจะลดแรงถึง 1% ตามข้อเรียกต้องของภาคเอกชนหรือไม่ คงต้องดูว่า ลดดอกเบี้ยมากแล้วจะได้ผลกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือไม่ ก็ต้องมีเหตุผลชี้แจง" นายสมชัย กล่าว

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการกลุ่มการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและระหว่างประเทศ สศค. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองในประเทศอยู่ในขณะนี้ จำเป็นจะต้องนำทุกนโยบายที่มีอยู่เข้ามาประคองเศรษฐกิจ และถึงเวลาที่นโยบายการเงินและนโยบายการคลังจะต้องปรับให้สอดรับกับสถานการณ์มากขึ้น

ส่วนการประชุม กนง.จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ กนง.มีอยู่ ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ถือว่ามีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมากที่สุด

นายตรีรณ พงศ์มฆพัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คาดว่า กนง.คงปรับลดดอกเบี้ย เพียง 0.25-0.5% แม้ขณะนี้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อจะลดลงแล้ว การดำเนินนโยบายการเงินอาจเข้าไปดูแลเศรษฐกิจได้มากขึ้น หลังจากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงชะลอตัวลงจากผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก และปัญหาการเมืองในประเทศ

แต่ปัญหาการเมืองในประเทศกลายเป็นความเสี่ยงที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน และสถานการณ์ที่รัฐบาลอยู่ภายใต้ช่วงสูญญากาศ ดังนั้น การลดดอกเบี้ยในอ้ตราที่สูงคงไม่ช่วยให้เกิดการกระตุ้นการลงทุนมากนัก แต่อาจเป็นเพียงการลดภาระเงินกู้ของภาคเอกชนเท่านั้น หรือเพื่อสนับสนุนการกู้เงินในประเทศเพื่อไปซื้อสินทรัพย์ราคาถูกในต่างประเทศจะกลายเป็นกับดักการลงทุน การลดดอกเบี้ยก็ไม่ได้ผลตามเป้าหมาย เชื่อว่าการลดดอกเบี้ยของ กนง.ครั้งนี้จะไม่ลดลงมาก แต่เป็นการลดดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพภาคการเงินมากกว่า

"ตอนนี้แรงกดดันต่อ กนง.มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในการใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่คงต้องชั่งน้ำหนักว่า เมื่อลดดอกเบี้ยแล้วจะได้ผลจริงหรือไม่ เพราะยังมีการเมืองเป็นตัวแปรและสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวน และแนวโน้มราคาน้ำมันจะยังลดลงอีกหรือไม่ ต้องรอดูต่อไป...หากลดดอกเบี้ยลงแรงแล้ว ไม่มีการลงทุน แต่กลับเป็นการส่งเสริมการ Carry Trade"นายตรีรณ กล่าว

นายตรีรณ เสนอแนะว่า ขณะนี้ภาคเอกชนส่งสัญญาณถึงความกังวลการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น จึงเรียกร้องให้ กนง.ลดดอกเบี้ยลงมากถึง 1% ดังนั้น เห็นว่ารัฐบาลควรเร่งหาแนวทางช่วยเหลือภาคเอกชน โดยนโยบายการคลังจะเป็นตัวนำในการดูแลเศรษฐกิจ และนโยบายที่ได้ผลขณะนี้คือการลดภาษีและเร่งรัดด้านรายจ่ายภาครัฐเพื่อลดปัญหาการว่างงาน อีกทั้งรัฐบาลต้องเตรียมโครงการต่างๆ ที่เป็นโครงการที่มีมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจให้พร้อมเพื่อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ