พาณิชย์ลุ้นสภาฯ ผ่าน 8 ข้อตกลงทางการค้าก่อนเจรจาระดับผู้นำอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 23, 2009 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 26-27 ม.ค.นี้ ที่ประชุมรัฐสภาจะพิจารณาเรื่องข้อตกลงภายใต้ความร่วมมือในกรอบอาเซียนจำนวน 8 ฉบับ ก่อนให้ผู้แทนไทยนำไปลงนามร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 14 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพระหว่งวันที่ 27 ก.พ.-1 มี.ค.52 ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้ข้อตกลงต่างๆ มีผลบังคับใช้ต่อไป

"ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 50 กำหนดให้ข้อตกลงระหว่างประเทศต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ซึ่งตอนนี้ได้กำหนดเวลาพิจารณาแล้ว เชื่อว่าไทยจะสามารถร่วมลงนามข้อตกลงกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ได้ทันเวลา ซึ่งเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งระหว่างประเทศต่อไป และคิดว่าไม่น่าจะเกิดปัญหาติดขัดอะไรอีก" น.ส.ชุติมา กล่าว

สำหรับข้อตกลง 8 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน, ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน, พิธีสารอนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน, ความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้, ข้อตกลงเอฟทีเออาเซียน-เกาหลี (ในส่วนของไทย), เอฟทีเออาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ เอฟทีเออาเซียน-อินเดีย เอฟทีเออาเซียน-จีน (ในส่วนของการลงทุน),บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและอินโดนีเซียเรื่องน้ำตาล และข้อตกลงยอมรับร่วมด้านอาชีพ เช่น แพทย์ และวิศวกรรม

นอกจากนี้ ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนจะพิจารณาผลการศึกษาการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ (กลุ่มความร่วมมือเมอร์เคอซู) ก่อนพิจารณาว่าจะขยายการทำข้อตกลงทางการค้าเพิ่มขึ้นหรือไม่

นายอดิศัย ธรรมคุปต์ นักวิชาการพาณิชย์ 9 ชช. ในฐานะหัวหน้าผู้แทนไทยในการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีกลุ่ม BIMSTEC(ประกอบด้วย บังคลาเทศ, อินเดีย, พม่า, ศรีลังกา, ไทย, เนปาล และภูฏาน) กล่าวว่า ในเดือนพ.ค.นี้ที่ประชุมจะสามารถสรุปการลดภาษีกลุ่มสินค้าภายใต้ข้อตกลงได้ จากนั้นจะผ่านกระบวนการภายในแต่ละประเทศเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในก.ค.นี้

ทั้งนี้จะมีสินค้าประมาณ 400 รายการที่จะลดภาษีเป็น 0% ทันทีจากอัตราภาษีเฉลี่ยในปัจจุบันที่ 10-40% ทำให้สินค้าที่จะได้โอกาสเข้าถึงตลาดนี้มากขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะโทรทัศน์สี, เครื่องสำอาง อย่างไรก็ตาม ไทยได้ขอให้สินค้า เหล็ก, สิ่งทอ และพลาสติกเป็นกลุ่มที่ยังไม่ลดภาษี เพื่อให้อุตสาหกรรมภายในสามารถปรับตัว เพราะกลุ่มสินค้านี้ประเทศใน BIMSTEC โดยเฉพาะอินเดียมีศัยกภาพในการแข่งขันสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ