ธปท.เตรียมขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ SMEs/หาลู่ทางหนุนแบงก์ปล่อยกู้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 29, 2009 17:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. เตรียมหารือกับรัฐบาลเพื่อขยายวงเงินค้ำประกันดังกล่าวให้เพิ่มมากขึ้น หลังผลการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการของธปท. ต่อความต้องการค้ำประกันสินเชื่อธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)ผ่านธนาคารพาณิชย์ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อแบบ Portfolio Guarantee Scheme ของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เบื้องต้น คาดว่าความต้องการน่าจะสูงกว่าวงเงินรวมที่ตั้งไว้ 30,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธปท.ต้องการความชัดเจนจากรัฐบาลถึงความคืบโครงการค้ำประกันสินเชื่อ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับอนุมัติวงเงินเมื่อใด ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ที่เข้ารวมโครงการนี้ อยู่ระหว่างจัดกลุ่มลูกค้าเพื่อเสนอมายังบสย.ซึ่งคาดว่าในช่วงเดือนพ.ค.ยอดการขอค้ำประกันสินเชื่อก็น่าจะสูงขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.ที่มี ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เพียงแห่งเดียวที่ยื่นรายชื่อลูกค้ามา

"เราต้องการให้แบงก์สนองนโยบายรัฐในเรื่องนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะยอดขอค้ำประกันเดือนเม.ย.ถือว่าน้อยมาก แต่ก็เชื่อว่า หลัง พ.ค.ยอดขอค้ำประกันน่าจะสูงขึ้น หลังธนาคารหลายแห่งทำการวิเคราะห์เอกสารของลูกค้าแล้วเสร็จ" นายสรสิทธิ์ระบุ

นายสรสิทธิ์ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบสถานะธนาคารพาณิชย์ประจำปี ช่วงเม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ได้ปรับลดเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อในปีนี้ลง จากเดิมคาดว่าสินเชื่อทั้งระบบจะขยายตัวที่ 8% เหลือเพียง 5% ซึ่งเป็นไปตามภาวะการชะลอตัวเศรษฐกิจ ขณะที่ ธปท.อยู่ระหว่างการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง มีภาระการกันสำรองหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) เพิ่มขึ้น แต่ ธปท.เห็นว่า ภาวะที่เกิดขึ้นมันเป็นระดับที่น้อยมาก หากเทียบกับระดับการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ ซึ่ง ธปท.อยู่ระหว่างการทบทวนข้อกำจัดและอุปสรรคที่จะก่อให้เกิด NPL ในบางเรื่อง เพราะก่อนหน้านี้ ธปท. ได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้ธนาคารพาณิชย์ นับ NPL เป็นรายบัญชีแทนรายลูกหนี้

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ธปท.ยังกังวล เกี่ยวกับสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ ในช่วงต่อไปอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการขอสินเชื่อ เนื่องจากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่เคยพึ่งพาสินเชื่อจากต่างประเทศ หันกลับมาระดมเงินในประเทศมากขึ้น



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ