ไทยจับมือญี่ปุ่นพัฒนาการผลิตเอทานอลจากกากอ้อย รับมือน้ำมันแพงอีกรอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 4, 2009 11:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น(NEDO) และสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเอทานอลจากเซลลูโลสในกากอ้อย เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคต

โครงการดังกล่าวจะมีการสาธิตการผลิตเอทานอลจากกากอ้อยที่โรงงานไทยรุ่งเรืองพลังงาน จ.สระบุรี ซึ่งเป็นโรงงานสาธิตแห่งแรกในภูมิภาคนี้ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีกากอ้อยประมาณ 60 ล้านตันถือว่ามากที่สุดในโลก แต่กลับนำไปใช้ทำปุ๋ยและเชื้อเพลิงชีวมวลจึงมีการคิดค้นสร้างมูลค่าเพิ่มจากกากอ้อยให้มากขึ้นด้วยการนำมาผลิตเป็นเอทานอล

เลขาธิการ สอน. กล่าวว่า แม้เทคโนโลยีดังกล่าวจะมีต้นทุนสูงเพราะต้องลงทุนโรงงานละ 800 ล้านบาท เพื่อให้ได้กำลังการผลิตวันละ 120,000 ลิตร จึงจะคุ้มทุน แต่เพื่อรับมือราคาน้ำมันตลาดโลกที่อาจจะสูงกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรล การผลิตเอทานอลจากกากอ้อยจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาและเตรียมพร้อม เพื่อจะไม่ทำให้เกิดการดึงอ้อยไปผลิตเป็นพืชพลังงานทดแทนเหมือนเช่นกรณีการผลิตเอทานอลจากแป้งมันสำปะหลัง



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ